Dec 11, 2012

ซุนวู ตำราพิชัยสงคราม 7 คัมภีร์


         ในระหว่างที่ จัดทำต้นฉบับหนังสือ Strategic Visionary Leader -ผู้นำแห่งวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ  รู้สึกว่าอยากให้สมองโลง ๆ ก็เลยไปเที่ยวไกลหน่อยถึง จ.นครสวรรค์ ไปไหว้ พระเจดีย์จุฬามณี  ณ  วัดคีรีวงค์  กับไปที่วัดบางมะฝือ เจออะไรที่น่าสนใจ (ขอเล่าในคราวต่อไปครับ)
        พอกลับมาได้ไปเดินร้านหนังสือ ที่แพร่พิทยา  Cen Ladprao  ดูหนังสือไปมา พบ เล่มตามรูปครับ
        "ซุนวู  ตำราพิชัยสงคราม 7 คัมภีร์"  ตอนแรกเห็นก็ไม่คิดว่าจะซื้อครับ (เพราะห่อพลาสติก ดูข้างในไม่ได้)  และตำราพิชัยสงคราม ซุนวู ผู้เขียนมีอยู่หลายฉบับ (ไทย-อังกฤษ)  ทั้งที่แปลจากภาษาจีน ภาษาอังกฤษ  และเล่มของคุณเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ก็มีอยู่แล้ว  เล่มของคุณพิชัย วาสนาส่งก็มี  (ตำราพิชัยสงครามของซุนจู้และเง่าคี้)
    
          แต่ ตำราพิขัยสงคราม 7 คัมภีร์  ชื่อนี่ซิครับ เคยอ่านคร่าว ๆ และบางเล่ม กับอ่าน ฉบับภาษาอังกฤษ ตามเวบไซท์  พอเห็นภาษาไทย  จึงขอทางร้านเปิดดูเนื้อหา
          น่า่สนใจทีเดียวครับ พิมพ์ครั้งที่ 3  พ.ศ.2547 แตกต่างจากครั้งก่อนคือมีภูมิหลังของผู้แต่งตำราพิชัยสงครามแต่ละเล่มด้วย  แถมราคา 140 บาท
           หนังสือ เกือบ 10 ปี แล้ว ยังมีวางขายอยู่ได้ไง หยิบส่งให้ทางร้านคิดเงินทันทีครับ
           ในเล่มจะมี ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ
                      ตำราพิชัยสงครามหวูจื่อ
                      ตำราพิชัยสงคราม หวีเลี้ยวจื่อ
                      ตำราพิชัยสงครามหลิวเทา
                      ตำราพิชัยสงคราม  3 ยุทธวิธี
                      ตำราพิชัยสงครามซื่อหม่าฝา
                      ตำราพิชัยสงครามหลี่เว้ยกง
          ใครสนใจใคร่ครอบครอง ผมยังเห็นมีอีกเล่มในร้าน หากชื่นชอบศึกษาตำราพิชัยสงคราม ฉบับไทย ๆ และเก่าจริง .... ถึงก่อนมีสิทธิก่อนครับ
     
           ส่งท้ายปีเก่า 2555  รับปีใหม่ 2556  กันด้วยความคิดดี ๆ ในการที่จะสืบทอด หลักการทางกลยุทธสมัยโบราณเชื่อมสู่ปัจจุบันและอนาคตครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com


Dec 5, 2012

กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี


           ผู้เขียนศึกษาเกี่ยวกับตำราพิไชยสงคราม ได้ค้นคว้าเอกสารจากหลายเล่ม โดยเฉพาะเอกสารโบราณ ตำราพิไชยสงครามไทยที่เป็นทั้งสมุดไทย และ ฉบับของจริง อยู่หลายฉบับ  ขณะเดียวกันก็มีเอกสารระดับรอง คือ บรรดาหนังสือ ตำราและเอกสารที่ ประมวลการศึกษาอยู่หลายเล่มด้วยกัน 
           มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ มักมีผู้ศึกษาและกล่าวถึงกันอยู่เสมอ  ๆ  เป็นเล่มที่ว่าด้วย กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี เขียนโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์และนิยะดา ทาสุคนธ์ พิมพ์ครั้งแรก ปี 2531 และครั้งที่ 2 ปี 2543 (ราคาปีที่พิพม์ เล่มละ 250 บาท) 
           ผู้เขียนได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มาก ( ผู้เขียนไปอ่านต้นฉบับที่ หอสมุดแห่งชาติ เพราะหนังสือหมดไปแล้ว)  ในการใช้กลศึก และการจัดทัพของพม่า  (ตามตำราพิไชยสงครามของพม่า)  มาเปรียบเทียบกับการจัดทัพตามตำราพิไชยสงครามของไทย  
          โดยผู้เขียน ได้จัดทำเป็นภาพจำลองการทำสงคราม ในเรื่อง การเดินทัพ  การตั้งทัพ  การจัดทัพในการรบ และรับ  การถอยทัพ ฯลฯ  ว่าใช้กระบวนพยุหะ อะไรบ้าง  ซึ่งโดยข้อเท็จจริง การจัดทัพของพม่าสมัยก่อน จะแตกต่าง กองทัพไทยในสมัยโบราณ ซึ่งในตำราพิไชยสงครามไทย ตำรับ  ชุดที่เรียกกันว่า  ฉบับคำกลอน มีทั้งหมด 5 เล่มสมุดไทย  ไม่ได้อธิบายให้เห็นภาพที่ชัดนัก  แต่ต้องอาศัยการจำลองภาพการรบจาก รูปแบบกระบวนพยุหะ ต่าง ๆ ใน มหาภารตะ   การจัดทัพแบบจตุรงคเสนาของกองทัพพระเจ้าจันทรคุปต์ แห่งราชวงค์โมริยะของอินเดีย และ กับ รูปแบบกองทัพโบราณของ พระเจ้าอเล็กซ์ซานเดอร์มหาราช หรือแม้กระทั่ง หนังสือตำนานสามก๊ก เหล่านี้
          ผู้เขียนจึงเกิด มโนทัศน์ ว่า การจัดกองทัพของไทยและพม่าในสมัยโบราณ ตาม กระบวนพยุหะ ตามตำราพิไชยสงคราม ควรเป็นเช่นไร (คอยอ่านได้ครับ อยู่ในหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์  กำหนดเสร็จ เร็ว ๆ นี้ )

         โชคดีมากครับ เมื่อ ปลายเดือน พ.ย.55  มีโอกาสไปพบหนังสือเล่มนี้เข้า สภาพยังสมบูรณ์ และได้ซื้อเก็บเช้าคลังหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม ของผู้เขียน ...


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
 email: drdanait@gmail.com