Feb 4, 2011

ระลึกถึงป๋าประสม สุสุทธิ-ครูช่างแทงหยวก(ราชสำนัก) ชั้นเทพแห่งสยาม

...ดอกไม้ที่รายล้อมรอบป๋า แต่ละดอกเปรียบเสมือนเหรียญตราของคุณค่าแห่งความดี...

เมื่อวันที่ 3 กพ.54. ป๋า-คุณพ่อประสม สุสุทธิ ครูช่างแทงหยวก(ราชสำนัก) ได้จากไปอย่างสงบด้วยอายุ 89 ปี และถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญในด้านภูมิปัญญาไทย และช่างสกุลเมืองเพชร (รวมถึงครอบครัวสุสุทธิด้วย)

ผู้เขียนสนิทกับป๋าในฐานะที่เป็นพ่อเพื่อนสนิท อาจารย์พิษณุ สุสุทธิ รร.พรหมานุสรณ์ จ.เพรชบุรี โดยเรียนปริญญาตรีเอก-โทเดียวกัน

ตลอดเวลาได้ไปมาหาสู่กัน ตั้งแต่ช่วงที่เรียน และเมื่อจบต่างคนต่างทำงานก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยม ป๋าเสมอมา และภูมิใจในสิ่งที่ ป๋า ทำหลาย ๆ อย่าง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนสนใจที่จะไปดูจิตกรรมฝาผนัง และศิลปะของเมืองเพชร ..ป๋าบอกว่า ..นัย คราวนี้มาแปลก  ป๋าพาทัวร์วัด และสถานที่ต่าง ๆ ที่ขึ้นชื่อของเมืองเพชรทั้งหมด พร้อมทั้งให้ตำราประวัติการทำพระเมรุ ของวัดยาง  ปูนปั้น และให้คำแนะนำหลายอย่าง เพราะป๋า ไม่รู้ว่า ผู้เขียนสนใจทำไม

ความจริงผู้เขียนสนใจ ศึกษาเกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามไทย

ป๋า พูดเสมอว่า คงมีโอกาสได้รวบรวมผลงานเพราะทำมาเยอะแต่ยังไม่มีใครทำให้ ป๋าให้ดูที่สอนศิลปะ การเขียนต่าง ๆ

ยิ่งครั้งหลัง ป๋า พาดู ลายวาด และการก่อสร้างที่วัดคงคาราม จ.เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นงานของป๋า และป๋าพาดูเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ครั้งต่อมาป๋าได้รับรางวัลดีเด่นด้านศิลปะ และอีกหลายรางวัล จนกระทั่ง เสร็จงานถวายพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพี่นาง ฯ  ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมป๋า ซึ่งยังป่วยอยู่ แต่ได้พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯ รับไว้ดูแล



.."ช่วงนาทีที่ 28  จะได้เห็นสมเด็จพระเทพทรงแทงหยวก..."



DVD นี้ ป๋าให้ผู้เขียนไว้  (จัดทำเมื่อ 8 กพ.52 ) ได้ดูงานทั้งหมดที่ ป๋าทำการแทงหยวกชั้นเทพ ป๋าบอกว่า ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่า่กับได้ถวายงานให้เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน

ป๋ายังเล่าสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้รับการยกย่องเป็น
- บุคคลดีเด่นด้านศิลปินเมืองเพชรสาขาทัศนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี 
-ปริญญาตรีกิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาศิลปกรรมและศิลปประยุกต์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ในปี 2537
- ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาคหกรรมศาสตร์เพื่อพัฒนาชุมชนศิลปะการแทงหยวก มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา

ป๋าบอกว่า นัย..เห็นมั๊ย ป๋าแซงหน้า ฉิบ ได้ปริญญาเอกก่อนลูก ๆ ทุกคน (ลูกป๋า 8 คน) 

นับเป็นเสียงแห่งความภาคภูมิใจที่ผมได้ยิน และก็ไม่ได้ยินเสียงป๋าอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 3 กพ.54 ที่ผ่านมาไปทันได้รดน้ำศพป๋า ดร.ประสม สุสุทธิ ครูช่างแทงหยวกชั้นเทพ แห่งราชสำนักสยาม

คิดถึงคุณงามความดีของป๋า ครับ ขอให้ดวงวิญญาณของป๋าจงไปสู่สุคติ สู่สัมปรายภพเทอญ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ

4 กพ.54


**********
ประวัติป๋า



กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ปี พ.ศ.2550 นี้ ช่างประสม สุสุทธิ ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี จะมีอายุครบ 85 ปี นับเป็นปูชนียบุคคลของวงการศิลปะไทย ที่ยังมีชีวิตและยังทำงานสอนศิลปะ เขียนลายไทย ให้ช่างปูนปั้นเมืองเพชรรุ่นหลัง นำไปทำเป็นลายปูนปั้นหน้าบัน โบสถ์ วิหาร อารามต่างๆ มายาวนานที่สุดคนหนึ่ง

"ตอนผมจำความได้ แถวนี้มีบ้านผมหลังเดียว ด้านหน้าเป็นคลองเล็กๆ พ่อผมเป็นช่างตีเหล็ก ทำมีด เคียว ขวาน อุปกรณ์การเกษตร แม่ผมเป็นแม่ค้า หาบของไปขายตลาด ในหาบมีหน่อไม้ดอง ของกินต่างๆ สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละครึ่งสตางค์ เงินยังมีค่ามาก พ่อแม่ทำงานทั้งปี ได้หยุดงานกันตอนสงกรานต์ คนรุ่นนั้นเขาหยุดงานไปเล่นไพ่ตอง เป็นประเพณีเลย สงกรานต์ห้าวัน เล่นกันแต่ไพ่ เช้ามา...ผัวออก เมียออก ไปคนละบ่อน บ่อนมีทั่ว สนุกกันมาก เล่นไพ่เพื่อพักผ่อนจริงๆ ทั้งห้าวัน ส่วนวันธรรมดา มีเล่นกันบ้าง"
พ่อประเสริฐของช่างประสม ทำอาวุธได้ทุกชนิด ดาบ มีด พร้า แม้แต่ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา พ่อก็ทำได้ และวิชาหนึ่งที่พ่อรับมาเต็มๆ จากขุนศรีเดชะ-ครูของท่าน ก็คือ การทำดาบ 'เหล็กน้ำพี้'
ในวัยเด็ก ช่างประสมได้เคยช่วยพ่อตีดาบเหล็กน้ำพี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งช่างประสมเล่าถึงความจำในวันวานเอาไว้ว่า
"เหล็กน้ำพี้เป็นการตีดาบ ชุบให้เกิดความแกร่ง พ่อสอนและทำให้ผมดู เวลากลางคืน 2 ยาม สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียง พ่อให้ผมไปชักสูบลม เผาเหล็ก เผาดาบที่ตีเป็นรูปร่างไว้ เอามาเผาให้ร้อน แล้วเอาไปชุบน้ำ วิธีการคือเหล็กพวกนี้ถูกเผาไฟอ่อนตัว ทิ้งไว้นานจะเหลว ดังนั้นพอความร้อนได้ที่ พ่อหยิบดาบแดงๆ มากลิ้งให้ดู มันมีน้ำกลิ้งแบบน้ำค้างบนใบบัว พ่อกลิ้งเม็ดน้ำให้ลงคมดาบ แล้วพ่อกลิ้งดาบเฉือนน้ำ ความแกร่งของเหล็กทั้งเล่ม มาอยู่ที่คมดาบตลอดโคนจรดปลาย ตรงนี้แหละที่เรียกเหล็กน้ำพี้"
การชุบดาบเหล็กน้ำพี้ต้องทำตอนกลางคืนมืดจัด อาศัยความมืดถึงจะมองเห็นเม็ดน้ำเหล็กที่กลิ้งอยู่บนคมดาบได้ ตอนกลางวันเผาเหล็กเดือด มองไม่เห็นเม็ดน้ำเหล็ก จึงชุบเหล็กน้ำพี้ไม่ได้
ช่างประสมได้เห็นแต่การตีดาบ ไม่ได้สืบต่อเป็นอาชีพ เพราะพ่อสั่งไว้ว่าเรียนหนังสือจบแล้ว จะไปทำมาหากินอะไรก็ตาม อย่าเป็นช่างเหล็ก การเอาเหล็กเผาให้เป็นน้ำนี้มันทารุณหนักหนา งานของช่างเหล็กได้บุญน้อย ได้บุญแค่ 30% เฉพาะที่ทำเป็นเคียว เป็นจอบเสียม เครื่องมือกสิกรรม อีก 70% เป็นการทำบาป เพราะทำอาวุธต่างๆ ทั้งมีด ปืน ดาบ ให้เอาไปฆ่าสัตว์ ฆ่าคน
ส่วนจุดพลิกผันจากวิถีช่างเหล็กไปสู่ความรักและแรงดลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะไทยนั้น ช่างประสมเล่าถึงที่มาว่า
"ผมเริ่มจำความได้ตอนอายุราว 7 ขวบ วิ่งเล่นดินทรายอยู่ในวัด พ่อแม่มีลูกหลายคน จึงส่งผมกับน้องสาวไปอยู่บ้านยายที่ถนนนอก เพื่อเรียนหนังสือ เพราะอยู่บ้านไม่ได้เรียน บ้านยายอยู่ติดบ้านครูท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นช่างเขียนเอกของเมืองเพชร ทุกเช้าทุกเย็น ผมจะเห็นครูท่านนั่งเขียนงานจิตรกรรมพุทธประวัติ รามเกียรติ์ เห็นทุกวันจนเข้าสมอง ก็เกิดแรงบันดาลใจ อยากทำเป็นบ้าง ผมไปขอความรู้จากครู ท่านไม่ให้ ท่านบอก...ไม่ได้โว้ย
คำๆ นี้ฝังอยู่ในใจผม ในสมัยเด็กคิดแบบนักเลงๆ ว่าเจ็บใจ และคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องทำให้ได้ แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่าครูท่านไม่รู้จะสอนเราอย่างไร เพราะแกไม่มีความรู้วิชาครู สอนไม่ถูกว่าจะเอาเทคนิคอะไรสอน ไม่ใช่หวงวิชา"
ตั้งแต่วันนั้น ช่างประสมก็เริ่มเสาะหาครู หาคนเขียนภาพได้มาเป็นครู เคยไปขอวิชาจากครูพิณ อินฟ้าแสง แต่ครูพิณก็ไม่สอนให้ จนไปได้วิชาจากพระภิกษุรูปหนึ่งที่เดินบิณฑบาต ผ่านหน้าบ้านทุกวัน
"พระอาจารย์จันทร์ ศุภโร ท่านผ่านมาเห็นผมนั่งหัดเขียนภาพไทยอยู่ทุกวัน ท่านชอบใจ บอกผมว่า วันอาทิตย์โรงเรียนหยุดให้ขึ้นไปหาท่านบนวัดเขาวัง ท่านจะสอนให้ผมเขียนภาพ ผมก็ดีใจว่าจากนี้เราจะมีครูแล้ว ผมไปบอกคุณยาย ว่าวันอาทิตย์ผมขอไปอยู่บนวัดเขาวัง จะไปเรียนเขียนภาพจากพระอาจารย์จันทร์"
วิธีถ่ายทอดของพระอาจารย์จันทร์ที่ช่างประสมจำได้ก็คือ เด็กชายประสมวัย 7 ขวบ ขึ้นไปกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านตอบว่าขอรับเป็นลูก ยังไม่ขอรับเป็นศิษย์ เพราะท่านไม่ใช่คนเก่ง ไม่มีผลงานปรากฏในสายตาประชาชน แต่ท่านมีความรู้ความสามารถในเชิงช่างทั้ง 10 หมู่อย่างยอดเยี่ยม พวกเครื่องมือเครื่องใช้ในการเขียน ในการผ่าไม้ ตัดไม้ พระอาจารย์ทำเองได้หมด
วิชาเขียนลายไทยที่พระอาจารย์จันทร์ถ่ายทอดให้ช่างประสมนั้น เป็นไปอย่างดียิ่งและเต็มที่ ดีสุดเท่าที่ครูคนหนึ่งจะมอบให้ศิษย์ได้
"วิธีการสอนของท่าน เช้าวันอาทิตย์แรกผมไปหาท่านที่วัด มอมแมมไป หัวยุ่งผมไม่ตัด เสื้อเปื้อน ท่านเอาข้าววัดให้กิน เอาเสื้อไปซักให้ ตัดผมให้ เย็นรีดเสื้อให้สะอาดเรี่ยม ระหว่างนั้นท่านให้เขียนลายไทย เริ่มแรกที่ผมเรียน ท่านสอนให้วาดเขียนตัวรามเกียรติ์ กนก นาง ช้าง ลิง ลายไทยทุกชนิด ท่านสอนหมดพู่กันทำอย่างไร ท่านทำพู่กัน เย็บเสื้อ ปะผ้า เจ็บไข้รักษาให้หมด ออกจากบ้านอย่างหนึ่งกลับบ้านอีกอย่าง ท่านเลี้ยงลูกศิษย์เหมือนลูก เวลาท่านมอบวิชาให้ใคร ท่านจะครอบครูให้ด้วย ผมครอบครูจากท่านอาจารย์จันทร์ครบ ทั้งช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างเขียน"
ช่างประสมเล่าด้วยว่าวิชาศิลปะพระอาจารย์จันทร์เขียนไม่เก่ง ปฏิบัติไม่เก่ง แต่ท่านสอนให้ลูกศิษย์ทำเก่ง รู้จริง ปฏิบัติงานได้จริง สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นทำได้
"ท่านเป็นครูแท้ๆ สอนได้หมดช่างปูน ช่างไม้ เวลาสอน ตอนท่านโมโห ของในมือท่านขว้างผนัง ไม่ได้ขว้างศิษย์ แสดงกิริยากับวัตถุอื่น ท่านได้วิชาจากอาจารย์เป้าวัดพระทรง เป็นรุ่นน้องอาจารย์เป้าไม่กี่วัน และท่านยังได้วิชาจากขรัวอินโข่ง ตอนมาเขียนภาพวัดเขาวัง ผลงานของพระอาจารย์จันทร์ยังมีเหลืออยู่ที่หน้าบันศาลาคลุมมุขบันได ทางขึ้นกุฏิวัดแก่นเหล็ก เป็นภาพพระปรมาภิไธยย่อ ท่านแกะสลักไม้ด้วยมือท่านเอง 
ตอนท่านมรณภาพผมไปกราบรดน้ำเท้า ไม่รดมือ ผมเอาเท้าท่านวางบนหัว คนมองกันทั่ว ท่านมีบุญคุณกับผมมาก จากพระอาจารย์จันทร์ผมเรียนตั้งแต่อายุ 7-18 ขวบ เขียนลายไทย เขียนรามเกียรติ์ได้ทุกตัว คนมาเรียนพร้อมกันรุ่นผมมี 7 คน แต่ไปเป็นตำรวจ ทหารระดับนายพันก็มี ที่ได้เอาวิชาศิลปะไทยไปใช้จริง มีผมคนเดียว ยังมีที่ได้วิชาช่างไม้ไปเป็นพระวัดเขาวัง แต่ตายไปแล้ว"
มิเพียงแต่การวาดเขียนลายไทยเท่านั้น หากพระอาจารย์จันทร์ยังอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ทุกอย่าง ไม่ว่ากระดาษสา สมุดข่อย ครูท่านนี้ทำเองทั้งหมด ไม่เคยซื้อสี หรือหากซื้อก็ซื้อเพียงไม่กี่สี พู่กัน ดินสอ ท่านสอนลูกศิษย์ให้ทำกับมือตัวเองทั้งสิ้น สีต่างๆ ที่เคยทำมานั้น ช่างประสมทบทวนให้ฟังว่าสีเขียวใช้ใบขี้เหล็กสดตำแหลก ห่อผ้าคั้นเอาน้ำหมักไว้เฉยๆ อย่าให้อากาศเข้า แล้วใส่ขวดโหลเก็บไว้ จะค่อยๆ เหนียว เวลาใช้ รินออกมาผสมน้ำ จึงเอาไปเขียนรูปได้
หากต้องการสีแดงจะใช้ผลต้นเสมา เสมานี้ดูคล้ายตะบองเพชร ใบแบนๆ มีหนาม ในหน้าแล้งออกลูกสีแดง ให้เก็บลูกไว้ แล้วใช้พู่กันมาจิ้ม สมัยก่อนพู่กันอ่อนทำด้วยขนหูวัว ถ้าพู่กันแข็งทำด้วยขนหูหมู หรือยอดไผ่แหลม ยอดกลมๆ ก่อนจะคลี่ออกเป็นใบ นำมาทำพู่กันจะทั้งแข็งทั้งคม นำมาจิ้มลูกเสมา จะได้สีแดง ใช้สีแดงตัดเส้น สีจากเสมาสดจะได้ในหน้าแล้ง ส่วนฤดูอื่นจะคั้นเอาสีใส่ขวด ข้อเสียคือเน่าง่าย
ส่วนสีเหลืองให้ใช้ยางต้นรงทอง ลักษณะคล้ายยางต้นจามจุรี ออกเป็นยางเหนียวตามกิ่ง เป็นก้อนๆ เก็บก้อนยางมา แล้วใช้พู่กันชุบน้ำละเลง ยางจะออกสีเหลืองทอง สีดำใช้ครามย้อมผ้าเป็นน้ำครามข้นๆ มาผสมกับผงถ่านป่น จะได้สีดำเข้มแบบสี BLACK หรือ BLUE BLACK
สีที่สำคัญที่สุดในงานภาพไทย คือสีขาว นำน้ำปูนขาวหมักไว้จนน้ำที่ใส่หมักปูนกลายเป็นน้ำแป้ง เป็นสีที่ทำให้สีต่างๆ เกิดปฏิกิริยา แล้วนำสีขาวผสมจะเกิดสีต่างๆ อีกมาก เป็นน้ำเงินอ่อน น้ำเงินแก่ เทาอ่อน เทาแก่ ทำให้เกิดสีต่างๆ ตามแม่สีถึง 48 สี เช่น สีน้ำทะเลจากเส้นขอบฟ้า เส้นระดับตา (Vanishing point) ตั้งแต่สีดำจนเป็นฟองอากาศขาวชายหาด ไล่กันมามีทั้งหมด 18 สี
สีอื่นๆ ได้แก่ สีน้ำเงินใช้คราม สีทองใช้ทองธรรมชาติ คือทองคำเปลวปิดไปบนภาพ
ทุกสีที่ช่างประสมกล่าวใช้เขียนภาพไทยได้ทั่วทั้งหมด ในภาพรามเกียรติ์ ภาพพุทธประวัติเดิมไม่มีสีบรอนซ์เงิน และช่างประสมก็ไม่เคยใช้ ส่วนการเริ่มเขียนลายไทยนั้น ช่างประสมเล่าว่า
"พระอาจารย์จันทร์สอนให้เหลาดินสอให้แหลมที่สุดเท่าที่จะแหลมได้ น้ำหนักมือที่จับดินสอ จับพู่กันท่านย้ำว่าสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนัก เกิดเส้นหนักเบาจากปลายพู่กัน อาจารย์จันทร์ท่านจะให้เอาปลายพู่กัน ปลายดินสอ กดเด้งๆ ที่ฝ่ามือท่าน ท่านจะรู้ว่าน้ำหนักมือเราหนักเบาแค่ไหน ที่สำคัญห้ามร่างภาพ เขียนเลย เขียนหน้าลิง หัวยักษ์ เอาแบบวาง ท่านให้เขียนเลย จะเขียนหู ตา ปาก จมูกตรงไหนก่อนก็ได้ ออกมาให้เป็นรูปนี้ก็แล้วกัน นี่เป็นอิสรภาพการเขียน ไม่บังคับ มือซ้ายมือขวา ใช้ได้ทั้งนั้น
เราต้องเขียนแล้วเขียนอีก เขียนกันเป็นปี เขียนจนกว่าจะใช้ได้ หน้าลิง หน้ายักษ์ จะให้ทำอะไร ท่านทำให้ดูก่อนว่าท่านทำได้ แต่สวยไม่สวยว่ากันใหม่ ผมมาเข้าใจตอนหลัง วิธีของท่าน ท่านสอนแบบทักษะสมัยใหม่ คือสอนให้จำก่อน จะเขียนอะไรต้องจำให้ได้ว่า หน้า จมูก ปาก อยู่ตรงไหนอย่างไร ปากลิง ปากนาง ต่างกันยังไง อย่างภาพรามเกียรติ์ ผมได้ความรู้จากโขน ผมหัดโขนด้วย มาได้ท่าจากโขนจริงๆ ดังนั้นภาพรามเกียรติ์ที่ผมเขียนไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากดูเอง คิดเอง ท่าทางตัวละครที่เขียนไม่ได้เอาอย่างใคร มาจากผมหัดโขน เอาท่าโขนไปช่วยในการเขียนภาพ
การเรียนเขียนภาพแต่ละปี ช่างประสมเล่าว่าไม่รู้จะสำเร็จแค่ไหน เพราะพระอาจารย์จันทร์สอนให้เรียนเพื่อรู้ ให้ทำได้ ทำเป็น นำไปใช้ประโยชน์ได้ ในช่วงเรียนศิลปะไทยยาวนานอยู่กว่าสิบปีนี้ ช่างประสมเล่าถึงประสบการณ์สำคัญครั้งหนึ่งให้ฟังว่า ตอนท่านอายุได้ 10 กว่าขวบ เรียนชั้นมัธยมปีที่สอง โรงเรียนวัดคงคาราม ช่วงหยุดเทอมเดือนมีนาคม-เมษายน ท่านได้ไปเที่ยวบ้านน้าชายที่กรุงเทพฯ บ้านของน้าอยู่ถนนวัดราชบพิธฯ เดินตัดออกหลังกระทรวงมหาดไทย ข้ามคลองหลอด ผ่านกระทรวงกลาโหมไปอีกไม่ไกลก็ถึงวัดพระแก้ว
ปีนั้นวัดพระแก้วกำลังเตรียมงานใหญ่ มีการซ่อมแซมวัดและซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ มีช่างเขียนจากเมืองเพชรและหัวเมืองต่างๆ รอบประเทศ ระดมกันมาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงวัดพระแก้ว ในทุกๆ วัน จะมีเด็กๆ มากมายเข้าไปรับจ้างกวนสีฝุ่นให้กับครูช่าง
เด็กชายประสมในวันนั้นตัวเล็กจิ๋ว แต่มีโอกาสดีได้เข้าไปรับจ้างกวนสีฝุ่นอยู่กับหมู่เด็กๆ จำนวนมากนั้นด้วย การอยู่ท่ามกลางครูช่างฝีมือยอดเยี่ยมทั่วประเทศ ได้เห็นภาพเขียนงดงามละลานตา ได้เห็นความตั้งใจในการเขียนภาพของครูช่าง และยังบังเอิญได้ไปรับใช้กวนสีฝุ่นให้กับบรมครู ซึ่งกำลังเขียนภาพรามเกียรติ์ตอนฤาษีไถนาพบผอบนางสีดา ซึ่งเป็นภาพสีสวยที่สุดภาพหนึ่งในจำนวนภาพทั้งหมด เด็กชายประสมเพิ่งได้รู้ก่อนจะกลับบ้านเพชรบุรีไม่กี่วันว่า ครูที่ตนได้รับใช้ผู้นั้น คือ 'คุณพระเทวาภินิมมิตร' ผู้อำนวยการซ่อมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อฉลองครบรอบ 150 ปี ในปี พ.ศ.2475
ในส่วนของวิชาการศึกษาตามระบบ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแปดจากเมืองเพชรบุรี ช่างประสมได้เข้ามาเล่าเรียนวิชาการตรวจบัญชีชั้นสูง ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ.2481 เป็นนักศึกษารุ่นเดียวกับนายบุญชู โรจนเสถียร ระหว่างเรียนชั้นปีที่ 2-3 ช่างประสมได้ไปทำงานรับราชการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วย แต่เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทำให้ต้องหยุดเรียนกะทันหัน แต่ยังทำงานที่ธนาคารชาติต่อเนื่องอีกหลายปี จนกระทั่งลาออกจากธนาคารชาติ มาทำธุรกิจส่วนตัว ในที่สุดก็ได้ทำงานรับเขียนโปสเตอร์ ออกแบบ ทำบล็อกต่างๆ ให้กับโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ
ช่างประสมย้ายกลับมาอยู่บ้านเมืองเพชรเป็นการถาวรในปี พ.ศ.2499 โดยมาเป็นครูสอนศิลปะอยู่ที่โรงเรียนคงคาราม ยาวนานถึง 10 ปี จึงลาออกมาทำอาชีพทางด้านศิลปะอย่างเต็มตัว ทั้งทำพวงหรีด พวงมาลา ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ศิลปะไทยสืบต่องานแทงหยวก เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพชาดก ออกแบบลายไทยตามหน้าบันโบสถ์ ศาลาต่างๆ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ผู้บรรยายพิเศษทางด้านศิลปะไทยให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หน่วยงานการศึกษาต่างๆ มาถึงปัจจุบัน
ผลงานทางศิลปะของช่างประสมมีหลากหลาย ความสามารถทางศิลปะที่ได้ใช้เป็นครั้งแรกในระดับงานใหญ่นั้นมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 ขณะทำงานอยู่ที่ธนาคารชาติ คือ การเขียนลายเส้นแบบธนบัตรฉบับราคา 1,000 บาท (แบงก์ลพบุรี) เป็นภาพพระปรางค์ 3 ยอด โดย ช่วง สเลลานนท์ หัวหน้าแผนกช่างออกแบบพันธบัตรของธนาคาร ได้เรียกช่างประสมเข้าไปช่วยเขียนแบบจนสำเร็จพิมพ์ออกใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายสมัยนั้น
ผลงานชิ้นถัดมาในปี พ.ศ.2487 ที่ธนาคารชาติก็คือ เขียนภาพสีน้ำมันหลอดแบบสโตรกเพนท์ ไม่ใช้พู่กันบนผืนผ้าใบ เป็นภาพ สมเด็จพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราช ซึ่ง ม.จ.วิวัฒนชัย ไชยยันต์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้รางวัล 800 บาท และขอภาพส่งไปเป็นของขวัญแด่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวแห่งสหรัฐอเมริกา ภาพนี้ยังประดับอยู่ที่ทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจากเมืองไทยจนกระทั่งปัจจุบัน
นอกจากนี้มีผลงานในเมืองเพชรมากมาย ทั้งที่วัดคงคาราม วัดกำแพงแลง วัดหนองควง วัดห้วยโรง วัดเวฬุวนาราม วัดกุฏีดาว ฯลฯ ทั้งยังออกแบบวางผัง กุฏิ หอพระ หอสวดมนต์ พลับพลาต่างๆ ที่วัดหนองศาลา วัดเขาตะเครา มณฑปจตุรมุข ประจำศูนย์การบินทหารบกค่ายสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อ.เมือง จ.ลพบุรี
ส่วนผลงานการสลักหยวก แทงหยวกนั้นก็นับว่าสร้างชื่อเสียงให้มาก ช่างประสมใช้ปลายมีดกรีดผ่านกาบกล้วยได้อย่างพลิ้วไหว สะบัดลายอ่อนช้อยมีชีวิตชีวางดงาม คมเฉียบอ่อนหวาน โดยทั้งหมดมิได้ร่างลายใดๆ ไว้ก่อน ผลงานการแทงหยวกของช่างประสมเผยแพร่เลื่องลือในงานมหกรรม งานวัฒนธรรมในสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ
ด้วยฝีมือล้ำเลิศนี้ ช่างประสมจึงได้รับคำเชิญให้ไปแสดงการแทงหยวกในงานฉลองครบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2525 ที่กรุงเทพมหานคร
อาจกล่าวได้ว่าช่างประสมเป็นช่างศิลปะไทยคนเดียวที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะของงานฉลองครบรอบ 150 ปี และ 200 ปี ของมหานครกรุงเทพฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังสามารถทำงานศิลปะยาวนานต่อเนื่องมาได้จนถึงบัดนี้