ด้วยการศึกษาทางด้านธุรกิจหรือโดยเฉพาะการจัดการธุรกิจในประเทศไทยถ้าจะย้อนหลังไปแล้วคงหาร่องรอยไม่ค่อยได้นักด้วยเหตุของหลายๆ ปัจจัย
แต่จุดที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทยคงจะเป็นในปี พ.ศ.2398 (1855) ซึ่งเป็นรัชสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ปีที่เราเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษ ทำให้เลิกการค้าผูกขาดการค้าของพระคลังสินค้าในประเทศทั้งหมดรวมถึงการค้าของกลุ่มพ้อค้าจีนที่แอบอิงกับอิทธิพลของขุนนางชั้นสูง และนำไปสู่การไหลบ่าของ “ทุนตะวันตก” เข้ามาสู่สยามประเทศและกว่าอิทธิพลของทุนตะวันตกที่ควบคุมเศรษฐกิจยุคสมัยรัตนโกสินทร์จะยุติลงก็ล่วงเข้ามาถึงปี พ.ศ.2490 เป็นปีที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำรัฐประการแล้วเริ่มนโยบายชาตินิยม “ประเทศไทยเพื่อคนไทย”
เมื่อผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล โดยตั้งใจจะดูทุกตอนแต่เผอิญตอนแรกยังไม่มีโอกาสได้ไปดู ได้ดูเฉพาะตอนที่ประกาศอิสรภาพ ซึ่งได้มีคำถามจากหลายๆ คนว่าแล้วจะดูรู้เรื่องได้อย่างไร
ผู้เขียนก็งงกับคำถามเหมือนกันเพราะว่า
• ผู้เขียนเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยมัธยมและสนใจอ่านประวัติศาสตร์มาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว (แล้วทำไมจะดูไม่รู้เรื่อง)
• ไม่ได้คิดว่าจะเรียนประวัติศาสตร์จากการดูภาพยนตร์ เช่น สุริโยทัยหรือตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ที่ไปดูด้วยเหตุต้องการดูอัจฉริยภาพของผู้สร้างและความอลังการแห่งนิรมิตของอดีตกาลที่ถ่ายทอดออกมาบนโลกเซลลูลอยด์
ทำให้เกิดฉุกคิดว่า เอ๊ะ! ตำราเรียนในปัจจุบันเขาเรียนอะไรกันจึงได้ไปเดินดูที่ร้านหนังสือในร้านหนังสือใหญ่ๆ พบว่า
1) ผมไม่เจอหนังสือเรียนว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่จะร่ำเรียนกันในชั้นมัธยมศึกษา (หรือที่ร้านไม่มีขายก็ไม่ทราบ)
2) ได้เปิดอ่านหนังสือเรียน (แบบเรียน) ด้านเศรษฐกิจเป็นอะไรที่ตลก และน่าขำมากที่ให้เด็กไทยเรียนเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียนเรื่องโอทอป ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็น “องค์ความรู้” (Body of Knowledge) ที่จะเป็นทฤษฎีหรือยอมรับกัน เป็นเพียงกระพี้แห่งกระแสของทุนนิยม-ประชานิยมชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง แล้ว “เราจะให้เด็กไทยมีอาวุธทางปัญญาที่จะไปแข่งในเวทีโลกหรือรับช่วงต่อประเทศไทยในอนาคตกันด้วยอะไร”
สิ่งที่น่าจะถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เราเป็นชาติเดียวที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิยมของมหาอำนาจทางตะวันตก นั่นอาจจะสะท้อนถึง สมรรถภาพทางกลยุทธของกองทัพไทยในอดีตหรือคุณภาพของผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะจากองค์พระมหากษัตริย์เข้าที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อาจจะพอสรุปได้ 5 ยุคด้วยกันคือ- ยุคก่อนสุโขทัย- อาณาจักรสุโขทัย- อาณาจักรอยุธยา- อาณาจักรธนบุรี- อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (ตั้งแต่รัชการที่ 1 (King Rama I) จนถึงรัชกาลปัจจุบัน (King Rama IX))
กลยุทธการทำสงครามหรือตำราพิชัยยุทธของไทยนั้น คงจะมีการสอนและร่ำเรียนกันโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงหรือภายในสำนักดาบ เช่น สำนักดาบพุทไธสวรรย์ถ้าจะจำลองสรุปกลยุทธของการสงครามของนักรบไทยในอดีตนั้น Low Sui Pheng (2001; Asian Wisdom for Effective Management) สรุปไว้ว่ามีหลักการทางกลยุทธอยู่ 12 ประการด้วยกัน
หากพิเคราะห์เปรียบเทียบโดยการสรุป กลยุทธที่สมเด็จพระนเรศวรทรงโปรด (พ.อ.พระสงครามภักดี; ใน 400 ปีแห่งการสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2148-2548), 2549) เช่น
• หลักการทำการเป็นเบี้ยบน หมายความว่า ทำให้เรามีอิทธิพลเหนือข้าศึก ข้าศึกต้องทำตามใจเรา ฝ่ายที่ตั้งความประสงค์ขึ้นแล้วบังคับให้ข้าศึกปฏิบัติตามได้สำเร็จย่อมเป็นเบี้ยบน ฝ่ายที่กระทำตามความประสงค์ของฝ่ายตรงข้ามย่อมเป็นเบี้ยล่าง
• การที่ทรงรอบรู้ในวิชาเสนาธิการกิจหรือฝ่ายอำนวยการสามารถพิจารณาได้จากการรบที่เมืองคัง พ.ศ.2124
สรุปแล้ว กลยุทธในการอดีตของกองทัพไทยหรือของพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้ทำสงครามหรือที่ปรากฏตามตำราพิชัยยุทธศาสตร์ ควรค่าแก่การนำมาศึกษาและสร้างเป็นองค์ความรู้ด้านการจัดการกลยุทธของไทยเป็นอย่างยิ่ง
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thienphut
No comments:
Post a Comment