Dec 11, 2012

ซุนวู ตำราพิชัยสงคราม 7 คัมภีร์


         ในระหว่างที่ จัดทำต้นฉบับหนังสือ Strategic Visionary Leader -ผู้นำแห่งวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ  รู้สึกว่าอยากให้สมองโลง ๆ ก็เลยไปเที่ยวไกลหน่อยถึง จ.นครสวรรค์ ไปไหว้ พระเจดีย์จุฬามณี  ณ  วัดคีรีวงค์  กับไปที่วัดบางมะฝือ เจออะไรที่น่าสนใจ (ขอเล่าในคราวต่อไปครับ)
        พอกลับมาได้ไปเดินร้านหนังสือ ที่แพร่พิทยา  Cen Ladprao  ดูหนังสือไปมา พบ เล่มตามรูปครับ
        "ซุนวู  ตำราพิชัยสงคราม 7 คัมภีร์"  ตอนแรกเห็นก็ไม่คิดว่าจะซื้อครับ (เพราะห่อพลาสติก ดูข้างในไม่ได้)  และตำราพิชัยสงคราม ซุนวู ผู้เขียนมีอยู่หลายฉบับ (ไทย-อังกฤษ)  ทั้งที่แปลจากภาษาจีน ภาษาอังกฤษ  และเล่มของคุณเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ก็มีอยู่แล้ว  เล่มของคุณพิชัย วาสนาส่งก็มี  (ตำราพิชัยสงครามของซุนจู้และเง่าคี้)
    
          แต่ ตำราพิขัยสงคราม 7 คัมภีร์  ชื่อนี่ซิครับ เคยอ่านคร่าว ๆ และบางเล่ม กับอ่าน ฉบับภาษาอังกฤษ ตามเวบไซท์  พอเห็นภาษาไทย  จึงขอทางร้านเปิดดูเนื้อหา
          น่า่สนใจทีเดียวครับ พิมพ์ครั้งที่ 3  พ.ศ.2547 แตกต่างจากครั้งก่อนคือมีภูมิหลังของผู้แต่งตำราพิชัยสงครามแต่ละเล่มด้วย  แถมราคา 140 บาท
           หนังสือ เกือบ 10 ปี แล้ว ยังมีวางขายอยู่ได้ไง หยิบส่งให้ทางร้านคิดเงินทันทีครับ
           ในเล่มจะมี ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ
                      ตำราพิชัยสงครามหวูจื่อ
                      ตำราพิชัยสงคราม หวีเลี้ยวจื่อ
                      ตำราพิชัยสงครามหลิวเทา
                      ตำราพิชัยสงคราม  3 ยุทธวิธี
                      ตำราพิชัยสงครามซื่อหม่าฝา
                      ตำราพิชัยสงครามหลี่เว้ยกง
          ใครสนใจใคร่ครอบครอง ผมยังเห็นมีอีกเล่มในร้าน หากชื่นชอบศึกษาตำราพิชัยสงคราม ฉบับไทย ๆ และเก่าจริง .... ถึงก่อนมีสิทธิก่อนครับ
     
           ส่งท้ายปีเก่า 2555  รับปีใหม่ 2556  กันด้วยความคิดดี ๆ ในการที่จะสืบทอด หลักการทางกลยุทธสมัยโบราณเชื่อมสู่ปัจจุบันและอนาคตครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com


Dec 5, 2012

กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี


           ผู้เขียนศึกษาเกี่ยวกับตำราพิไชยสงคราม ได้ค้นคว้าเอกสารจากหลายเล่ม โดยเฉพาะเอกสารโบราณ ตำราพิไชยสงครามไทยที่เป็นทั้งสมุดไทย และ ฉบับของจริง อยู่หลายฉบับ  ขณะเดียวกันก็มีเอกสารระดับรอง คือ บรรดาหนังสือ ตำราและเอกสารที่ ประมวลการศึกษาอยู่หลายเล่มด้วยกัน 
           มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ มักมีผู้ศึกษาและกล่าวถึงกันอยู่เสมอ  ๆ  เป็นเล่มที่ว่าด้วย กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี เขียนโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์และนิยะดา ทาสุคนธ์ พิมพ์ครั้งแรก ปี 2531 และครั้งที่ 2 ปี 2543 (ราคาปีที่พิพม์ เล่มละ 250 บาท) 
           ผู้เขียนได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มาก ( ผู้เขียนไปอ่านต้นฉบับที่ หอสมุดแห่งชาติ เพราะหนังสือหมดไปแล้ว)  ในการใช้กลศึก และการจัดทัพของพม่า  (ตามตำราพิไชยสงครามของพม่า)  มาเปรียบเทียบกับการจัดทัพตามตำราพิไชยสงครามของไทย  
          โดยผู้เขียน ได้จัดทำเป็นภาพจำลองการทำสงคราม ในเรื่อง การเดินทัพ  การตั้งทัพ  การจัดทัพในการรบ และรับ  การถอยทัพ ฯลฯ  ว่าใช้กระบวนพยุหะ อะไรบ้าง  ซึ่งโดยข้อเท็จจริง การจัดทัพของพม่าสมัยก่อน จะแตกต่าง กองทัพไทยในสมัยโบราณ ซึ่งในตำราพิไชยสงครามไทย ตำรับ  ชุดที่เรียกกันว่า  ฉบับคำกลอน มีทั้งหมด 5 เล่มสมุดไทย  ไม่ได้อธิบายให้เห็นภาพที่ชัดนัก  แต่ต้องอาศัยการจำลองภาพการรบจาก รูปแบบกระบวนพยุหะ ต่าง ๆ ใน มหาภารตะ   การจัดทัพแบบจตุรงคเสนาของกองทัพพระเจ้าจันทรคุปต์ แห่งราชวงค์โมริยะของอินเดีย และ กับ รูปแบบกองทัพโบราณของ พระเจ้าอเล็กซ์ซานเดอร์มหาราช หรือแม้กระทั่ง หนังสือตำนานสามก๊ก เหล่านี้
          ผู้เขียนจึงเกิด มโนทัศน์ ว่า การจัดกองทัพของไทยและพม่าในสมัยโบราณ ตาม กระบวนพยุหะ ตามตำราพิไชยสงคราม ควรเป็นเช่นไร (คอยอ่านได้ครับ อยู่ในหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์  กำหนดเสร็จ เร็ว ๆ นี้ )

         โชคดีมากครับ เมื่อ ปลายเดือน พ.ย.55  มีโอกาสไปพบหนังสือเล่มนี้เข้า สภาพยังสมบูรณ์ และได้ซื้อเก็บเช้าคลังหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม ของผู้เขียน ...


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
 email: drdanait@gmail.com

         

Oct 28, 2012

ตำนานพิไชยสงครามไทย กับคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างความโด่งดัง

                      ภาพ จัดทัพครุฑพยุหะ

                      ภาพ จัดทัพมหิงพยุหะ


                      ภาพ จัดทัพมังกรพยุหะข้ามแม่น้ำ
   
            เรื่องของตำราพิไชยสงครามไทย มีคนสนใจกันค่อนข้างมากเพราะ ต้นฉบับจริงที่เป็นฉบับสมุดไทย  ทั้งที่เป็นฉบับหลวงหรือ ฉบับสมุดไทยดำและสมุดไทยขาว มีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ ศึกษาจากฉบับจริงและจับต้องของจริงเนื่องจาก
            อย่างแรก ตำราพิไชยสงคราม ยากนักที่จะมีการสืบทอดหรือตกมาถึงยุคปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นตำราโบราณ มีอายุนับร้อย ๆ ปี และ ผู้ที่จะได้มีครอบครอง และได้ศึกษาต้องเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดิน เช่น พระมหากษัตริย์  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)  บุคคลในราชสำนัก หรือ บรรดาแม่ทัพนายกอง ซึ่งสามัญชนและชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ศึกษา ด้วยข้อจำกัดในชาติตระกูลที่เกิดมา และความไม่รู้หนังสือ
             อย่างต่อมา บ้านเมืองไทยสมัยก่อนได้ผ่านสงคราม การรบทัพจับศึก รวมถึงการเสียกรุงถึง 2 ครั้ง บันทึกเอกสารทางราชการ เอกสารสำคัญและตำราพิไชยสงครามคงถูกเผาทำลาย หรือ พม่าคงขนเก็บไปด้วย จึงยากที่จะมีโอกาสที่ "ตำราพิไชยสงคราม" จะรอดเหลือมาถึงปัจจุบัน
            อย่างสุดท้าย การได้สัมผัสตำราพิไชยสงคราม และรับรู้ถึง "ตำนานเรื่องราวการรบทัพจับศึก" ที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นจอมทัพ หรือ ทัพหลวง  เหล่าบรรดาแม่ทัพนายกอง ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ และ มีส่วนในการจารึก ตัวอักษรที่ชุบบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนสมุดไทย  ตั้งแต่เหตุของการเกิดสงคราม การเกณฑ์ทัพ การเลือกแม่ทัพ และโดยเฉพาะ 21 กลศึก  ยังมีการจัดตั้งทัพ-พยุหะ ทั้งตรีเสนา เบญจเสนา การเคลื่อนทัพ  การรุกรบ -ถอยทัพ  การปล้นค่ายและการเข้าตีเมือง  ตลอดจนโหราศาสตร์พิชัยสงคราม ฯลฯ

            ขณะที่ในปัจจุบัน ผู้เขียนได้มีโอกาส ศึกษาและเรียนรู้จากต้นฉบับตำราพืไชยสงคราม เล่มสมุดไทย ในหลายฉบับ ที่ ห้องกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
            โดยได้นำมาความรู้มาเขียน "ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์"
             ในขณะที่เข้าไปศึกษา ก็ได้สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งดลบันดาลให้หยิบได้ฉบับที่ตรงกับ ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เลยจากที่มีอยู่ถึง 217 เล่มสมุดไทย
           สำหรับการศึกษาและเขียน ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ พบว่า
             -ตำราทั้ง 2 เล่มสมุดไทยนั้น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงมาก เพราะมีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก
              แต่ไม่ได้หมายความว่า จะทำการศึกษาและตีความทำความเข้าใจได้ด้วย ตำราทั้ง 2 เล่ม เพราะ ต้นฉบับจริงจากการศึกษาของผู้เขียน ตำราพิไชยสงครามไทยมี 2 ตำรับ  ตำรับแรก มี 5 เล่มสมุดไทย เป็นฉบับคำกลอนทั้งหมด  และตำรับที่สอง มีอย่างน้อย 1 เล่มสมุดไทย เป็น เล่มว่าด้วย กระบวนพยุหะ (ตามหลักฐานที่สืบค้นใน สำนักหอสมุดแห่งชาติ  ตำราพไชยสงคราม ฉบับหลวงพิไชยเสนา -ฉบับหมอบรัดเล)
            ดังนั้นทำให้ผู้เขียนต้องทบทวนวรรณกรรม เกี่ยวกับความเป็นมาของตำราพิไชยสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดรูปแบบพยุหะ หรือ รูปแบบการจัดทัพ ซึ่งยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ประกอบกับ การสืบทอด หรือ ครอบครองตำราพิไชยสงครามก็ยังไม่เคยมีการศึกษาว่ามีแนวทางเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ผู้เขียนสังเคราะห์หาความจริงในเรื่องนี้ด้วย

            นั่นคือความจำเป็นและเป็นความสำคัญยิ่ง สำหรับผู้ศึกษารุ่นใหม่ อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างเพียงพอ เห็นว่าไม่มีความสำคัญ อ่านและทำความเข้าใจทั้ง 2 เล่มสมุดไทยที่พบของ จ.เพชรบูรณ์ก็เข้าใจแล้ว (ซึ่งไม่จริง)
            -การจัดพิมพ์เอกสารโบราณ ในความคิดของผู้เขียน การพิมพ์ เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการสืบต่ออายุเอกสารหรือหนังสือ ยิ่งเหมือนต้นฉบับได้ยิ่งยอดเยี่ยม เพราะจะทำให้ผู้มาทำการศึกษาต่อได้เห็นว่าของเดิมเป็นมาอย่างไร
             ขณะที่การถอดความและแปลความแม้ว่าอยากให้เป็นปัจจุบัน แต่ไม่ควรจัดทำใหม่ด้วยเหตุผลของความสวยงาม ซึ่งไม่ใช่แก่นหรือส่าระสำคัญ
             ดังภาพกระบวนพยุหะ ทั้ง 3 พยุหะ ที่ผู้เขียนสำเนามาจากฉบับจริง (ฉบับชุบใหม่ ในรัชกาลที่ 2 สำหรับฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เป็นสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งยังไม่เหมือนตามต้นฉบับเพราะเป็นฉบับร่าง
              แต่เราจะเห็นถึง
              1) ความเป็นเอกสารโบราณ และภูมิปัญญาที่ เหล่าบรรพชนของเราก็รังสรรค์และทิ้งไว้เป็นมรดกให้รุ่นลูกหลาน
              2)เมื่อเราอ่านและ เห็นความเป็นโบราณ ย่อมให้สัมผัส ความรู้สึกและ   สุนทรีย์ที่แตกต่างจากการทำให้สวยงาม ด้วยเส้นที่ตรง และวาดจากกราฟิคสมัยใหม่ ซึ่งไม่ให้สัมผัสอันสุนทรีย์ ดังกล่าว
              3) ศิลปะในยุคนั้น เมื่อวาดใหม่ ย่อมทำลายและสืบหาร่องรอยไม่เจอ การถอดความ ผู้เขียนจึงคงไว้ซึ่งรูปแบบ ภาพ ยกเว้นภาษา ที่ต้นฉบับเป็นภาษาโบราณ แต่ที่ถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน      เพื่อยังให้คุณค่าทางศิลป์ เหมือนเดิม
              เราคงไม่แปลกใจว่า วัดเก่า เอกสารเก่าโบราณ มักถูกรื้อสร้างใหม่ เขียนใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ที่อยากทำอะไรไว้ว่าเป็น "ความทรงจำที่ตนสร้างขึ้น แต่ลืมไปว่าได้ทำลายคุณค่าของเอกสารโบราณ และความสำคัญในอดีตไปอย่างไม่มีทางทำให้หวนกลับมาได้ แม้ในภายหลังรู้สึกว่าเสียดายแต่ก็สูญสิ้นมลายไปแล้ว"


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com

May 30, 2012

ตำราพิไชยสงคราม: บทวิเคราะห์ฉบับเมืองเพชรบูรณ์

ตามที่เคยบอกไปว่าผมได้เขียน บทความวิเคราะห์ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์  ให้ทาง วารสารศิลปวัฒนธรรม เพชรบุระ ตอนนี้ตีพิมพ์แล้ว ในฉบับปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ เย.-ก.ย.๕๔ หน้า 23-33 ผมสแกนาห้อ่านกันครับ

















ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com

Apr 18, 2012

ริ้วกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


มีอยู่วันหนึ่ง เดือน มี.ค.55 ไปบรรยายที่ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน รัชดา ฯ  บังเอิญพบภาพ กระบวนเรือสมัยสมเด็จพระนารายณ์  (ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคโดย   F.X. Habermann  พิมพ์ที่เมือง Ausburg ) รีบถ่ายรูปมาโดยพลัน



ข้อความเต็ม ...Vüe de Siam avec diverses Sortes des Ballons, ou Vaisseaux chinoises a rame. 
ลองให้กูเกิลแปลให้ (สำหรับสยามกับชนิดของบอลลูนหรือเรือจีนมีพาย)

ขณะที่ภาพนี้ บันทึก... กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน เรียบเรียง ระหว่าง ค.ศ. 1582-1596 กับเป็นรูปกลับด้านกัน (ในหนังสือ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ฯ หน้า 68)
ยังมีอีกเป็นภาพพิมพ์  บอกเป็นภาพพิมพ์ โดยฟร็องซัวส์ ซาวเวียร์ อาเบอร์มันน์ จิตรกรชาวเยอรมัน(รูปตรงกัน) อันนี้ของแท้ต้นฉบับแน่นอน รูปดูได้ทางอินเตอร์เน็ท (เข้าใจว่าน่าจะมีลิขสิทธิ์)

น่าสนใจดี ทั้งกระบวนพยุหยาตรา และรูปที่แตกต่าง เหมือนกลับฟีลม์กัน
ไว้ค่อยมา อรรถาธิบาย เรื่องนี้อีกครั้ง เพราะ มักมีผู้กล่าวว่า   มี"ตำราพิไชยสงคราม" ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ  แต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือ พงศาวดาร บันทึกบ่งบอกสิ่งเหล่านี้ไว้

 ท่านคิดว่าผู้เขียนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย  ยกหัวแม่มือขึ้น-ลง


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com

Apr 10, 2012

รถศึก ในจตุรงคเสนา ขอว่าอีกครั้ง




         ในจตุรงคเสนามีพล 4 เหล่า พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า  ตามที่ผู้เขียนได้เกรินไปก่อนหน้านี้ว่า มีเค้าเงื่อนให้สงสัยว่า  พลรถ หรือ รถศึก ที่ว่า ในการทำสงครามสมัยโบราณ เราไม่มีรถศึก แต่มีเรือศึกเข้ามาแทน เพราะภูมิประเทศไม่เหมาะนั้น 

ผู้เขียนกลับคิดว่า เราีมี รถศึก ครงตามตำราพิไชยสงคราม ในจตุรงคเสนา  (อ่านได้ที่

รถพยุหะในตำราพิไชยสงคราม เลขที่ 43 สำนักหอสมุดแ่ห่งชาติ)  


โดยผู้เขียนได้จำลอง แผนภาพ รถพยุหะจาก ตำราพิไชยสงคราม เลขที่ 43 มาให้เห็นภาพของรถศึก ในสมัยก่อน 


                       




แต่ก็ยังอยากหาหลักฐานมายืนยันเพิ่มเติมอีก  ในคราวนี้มีข้อมูลเพิ่มสนับสนุนข้อสันนิษฐานของผู้เขียน


ประการแรก  หนังสือสมุทรโฆษ ที่สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์จนจบ  ในตอนจัดทัพพร้อมด้วยจตุรงคเสนา คือ  พลช้าง พลม้า  พลรถ และพลเดินเท้า อันเป็นกองทัพของพระสมุทรโฆษ พร้อมด้วยนางพินทุมดีเดินทางจากรมยบุรี ไปเยี่ยมพระเจ้าพินทุทัต ซึ่งเป็นพระชนกยังพรหมบุรี (พระธรรมโกศาจารย์,2507 ; พระเกียรติบางประการใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า 272-275) ทรงนิพนธ์ด้วย มาลินีฉันท์ดังนี้

                                                พลรถ
พลรถคณมากมวญ               เล็งพิลาสควร                   จะพิศวง
พลรถคณเทียมดุรงค์            งอนบรรเจิดธง                  สล้างสลอน
พลรถคณอลงกรณ์               แปรกและแอกงอน            ก็งามสรรพ                             
พลรถคณดิเรกระดับ             แก้วประกอบกับ                 กนกเนือง
พลรถคณมลังมเลือง            แลอร่ามเรือง                     จำรัสฉาย
พลรถคณเรียบราย                บนบัลลังก์นาย                  จำนำสถิต  
พลรถคณเรืองฤทธิ์               รอญปัจจามิตร                   พิราไลย
พลรถคณชาญชัย                 กุมลำแพนไกว                   และแกว่งกวัด
พลรถคณเทิดทัด                  ทวนประจำหัตถ์                 สง่าหาญ  
พลรถคณกุทัณฑ์ธาร             แผลงไพรินผลาญ             ก็กราดลาด
พลรถคณศรศาสตร               อุสุรดดาษ                         เผด็จอรี
พลรถคณสารถี                      ถือจรีคระวี                         คือกังหัน

ประการที่สอง  ผู้เขียนนึกถึง พุทธประวัติ ตอนที่กษัตริย์แคว้นต่าง ๆ และเหล่ามัลลกษัตริย์ไม่ยอม จึงส่งทั้งฑูตและยกกองทัพเต็มอัตราศึก จตุรงคเสนามาจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ และมีกษัตริย์แคว้นหนึ่งมาช้า ซึ่งน่าจะเป็น ภาพนี้ที่ จิตรกรรมฝาผนังวัดประดู่ทรงธรรม จ.อยุธยา


ประการต่อมา ในหนังสือ จิตรกรรมไทย ต้นแบบการฝึกเขียน ชุดที่ ๑ ของ ประสม สุสุทธิ (2527 ; อัดสำเนา) ซึ่งใช้ประกอบการสอน ในโครงการฝึกอบรม วิชา ศิลปรรมไทย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดเพชรบุรี   ลูกหลานครอบครัวสุสุทธิได้จัดหาและทำขึ้นเพราะีผู้สนใจกันมาก  ในคราวงานพระราชทานเพลิงศพ คุณพ่อประสม สุสุทธิ ช่างแทงหยวกเืมืองเพชรบุรี -ช่างแทงหยวกชั้นเทพ 2 พระเมรุ แห่งรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.55

หนังสือดังกล่าวมีภาพวาด ช้างศึก  ม้าศึก และ ราชรถศึก  ไว้ตามรูป




และประการที่สาม  เป็นความบังเอิญ เื่มื่อวันที่ 7 เม.ย.55 ผู้เขียนได้รับอนุญาตให้เข้าไปที่  หอประติมากรรมต้นแบบ  กรมศิลปากร เพื่อดูคณะช่างแทงหยวก เมืองเพชรบุรี (ลูก ๆ  หลาน ๆของ ครูประสม สุสุทธิ) ที่มาแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ  ได้พบเห็นภาพร่าง  รถศึก ดังรูป



          กับอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพ รถหรือ เกวียนสมัยที่ใช้กันในอดีต ซึ่งจัดแสดงในงาน "พระนครคีรี-เืมืองเพชร ครั้งที่ 26  วันที่ 26  มี.ค.-6 เม.ย. 2555"





                      
ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า รูปแบบ รถ ดังกล่าวนี้ มีลักษณะที่เหมือน แผนภาพรถพยุหะ ตามตำราพิไชยสงคราม
ประการสุดท้าย  ในการจัดทัพของขอม  ซึ่งมีมีภาพจำหลักที่ นครวัด ได้ีการจำลองภาพรถศึกในสมัยนั้นซึ่งได้ต้นแบบมาจาก ฮินดูโบราณ  มีลักษณะรถศึกดังนี้ มี 3 รูปแบบด้วยกัน ตามรูปแรก  ส่วนรูปที่ 2 เป็น รูปด้านหน้ารถศึก  รูปที่ 3 เป็นรูปรถด้านข้าง  รูปที่ 4 คล้ายราชรถศึก   และรูปที่ 5  เป็นรูปนายทัพ นั่งอยู่บนรถศึก








โดยรวมแล้วผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่า   รถศึก ของไทยเรา มีอยู่อย่างแน่นอนตามข้อมูลและการสันนิษฐานเพิ่มขึ้นดังนี้

1. ข้อมูลจาก พุทธประวัติ ที่วัดประดู่ทรงธรรม และสมุทรโฆษคำฉันท์ 
 มีภาพรถศึก(ราชรถศึก)  พร้อมทั้งคำบรรยาย  
2.ข้อมูลจากภาพจิตรกรรมไทย ส่วนใหญ่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องรามเกียร์ติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งวาดไว้ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  มีภาพ  "ราชรถศึก" พร้อกับ รถ/เกวียน ที่แสดง  ณ พระนครคีรี จ.เพชรบุรี
3. ข้อมูลที่ นครวัด มีภาพรถศึก 3 รูปแบบ ที่สมบูรณ์มาก พร้อมทั้งแม่ทัพที่ขับรถศึก  พิจารณาได้จากภาพจำลองทั้ง 5 ภาพข้างต้น

น่าสนใจ ครับสำหรับ รถศึก หรือ พลรถ ซึ่งเป็นหนึ่งใน จตุรงคเสนา ที่ในการศึกษาก่อนหน้านี้ของนักประวัติศาสตร์ เรายังไม่มีข้อมูลมากนักในอดีต  แต่ปัจจุบันมีมากขึ้น จึงทำให้ได้คำตอบใหม่ในเรื่องนี้

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com


Mar 23, 2012

บังอบายเบิกฟ้า ...ตำราพิไชยสงครามไทย ใครแต่ง ใครรจนา



ความน่าสนใจและเสน่ห์ของ "ตำราพิไชยสงครามไทย" อยู่ที่ว่า มี  "ศาสตร์และองค์ความรู้" ที่คนรุ่นหลังยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด แ้ม้จนกระทั่งในปัจจุบันี้

ในระหว่างที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ "ตำราพิไชยสงครามไทย"  มีคำถามเกิดขึ้้นมากมายโดยเฉพาะว่า "ใครคือผู้แต่งหรือรจนา" ในครั้งเริ่แรกของไทย และเขียนขึ้นได้อย่างไร

มีโคลงสีสุภาพ 2 บท ในตำราพิไชยสงคราม เล่มคำกลอน ซึ่งถือเป็นหัวใจทีเดียว หากได้มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งจะไขปริศนา ที่ผู้เขียนถามไว้ข้างต้น

           ตำราวรวากยไว้               วิถาร    
       พิไชยสงครามการ               ศึกสิ้น
       จงหาที่พิสดาร                    เติมต่อ
       จงอย่าลืมกลสิ้น                  เล่ห์เลี้ยวจำความ
          สมเด็จจักรพรรดิรู้             คัมภีร์
       ชื้่่อว่า กามันทะกี                 กล่าวแก้
       พิไชยสงครามศรี                 สูรราช
       ยี่สิบเอ็ดกลแล้                    เลิศให้เห็นกล

(ดร.ดนัย  เทียนพุฒ ถอดความเป็นภาษาปัจจุบันโดยปรับปรุงใหม่ จากต้นฉบับสมุดไทย ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์  ณ. ก.พ.2555)    

ผลการศึกษาล่าสุดของผู้เขียน พบว่า
1. ไทยเรามีตำราพิไชยสงคราม ใช้ก่อน ที่จะมีการรวบรวมจัดทำเป็นฉบับแรก ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปี พ.ศ.2041 
2. ตำราพิไชยสงคราม ฉบับที่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ..แรกให้ทำตำราพิไชยสงคราม    นั้นพระองค์ทรงรจนาและแก้จาก มา จาก ตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณ ชื่อว่า "กามันทะกียะ"                                                                            
3.ผู้แต่ง ตำราพิไชยสงคราม ฉบับแรก ที่ในโคลงสี่สุภาพ ระบุไว้ว่า
      "สมเด็จจักรพรรดิรู้     คัมภีร์"  .... ในที่นี้คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2


4.และตำราพิไชยสงครามไทยก่อน สมัยสมเด็จพระรามธิบดีที่ 2  มีเค้าเงื่่อนว่า รากแนวคิดของพิไชยสงคราม น่าจะมาจาก มหากาพย์..."มหาภารตะยุทธ"

และในตำราพิไชยสงคราม ฉบับเืองเพชรบูรณ์ เล่มคำกลอน หน้าต้น สมุดไทยขาว เขียน โคลงกระทู้ (1คำ) ไว้ว่า

พิ        เคราะห์การศึกใช้              โดยขบวน
ไชยะ   สฤดีทั้งมวล                      ท่านไว้
สง       สัยสิ่งใดควร                     คิดร่ำเรียนนา
คราม   ศึกกลศึกให้                      ถ่องแท้หรือไทยหวัง

(ดร.ดนัย เทียนพุฒ ถอดเป็นภาษาปัจจุบัน โดยปรับปรุงใหม่ จากต้นฉบับสมุดไทย ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์  ณ. ก.พ.2555) 

แสดงให้เห็นถึง การชี้ชวนให้ศึกษาให้เข้าใจ  ยิ่งสงสัยยิ่งต้องร่ำเรียน 

(*อ้างอิงจาก ดร.ดนัย เทียนพุฒ, 2555 : ตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์ -ต้นฉบับอัดสำเนา)



ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com


      



Mar 16, 2012

ตำราพิไชยสงคราม รัชกาลที่ 2 เล่มว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพ


ตอนที่เข้าไปศึกษา สมุดอักษรจารึกและตัวเขียนโบราณ  ที่สำนักหอสุดแห่งชาติ เพื่อวิเคราะห์ที่ไปและที่มาของ ตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์  ได้พบและอ่าน...
"สมุดแผนที่พิไชยสงครามยกใหม่"  บันทึกไว้ว่า  ตำราพิไชยสงคราม เล่ม ๑ ว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพ  ชุบในสมัยรัชกาลที่ 2 

ภาพหน้าสมุด เป็นดังรูป ที่ผู้เขียนขอสำเนามา เป็นขาวดำ (เสียค่าบริการ) ต้นฉบับ ตัวอักษรสีทอง สวยงามมาก

ที่สะดุดตา มากสุด ..คือ ภาพข้างล่าง เป็ยลักษณะของชัยภูมิ ที่มีต้นไ้ม้ 3 ต้น ลำธาร และภูเขา พร้อม ช้างอีก 2 เชือก  ในหน้าแรกนี้ ไม่พบในฉบับเมืองเพชรบูรณ์  หรือ อีกฉบับที่เป็น "สมุดพิไชยสงคราม กระบวนพยุหะ"  ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ก็ไม่พบเช่นกัน สันนิษฐานว่า ฉบับรัชกาลที่ 2 ได้ชุบใหม่ตามต้นฉบับจริง เพราะที่เป็นฉบับคัดลอกไม่พบในเล่มอื่น ๆ


ส่วนที่กล่าวถึง พยุหะเช่น ปทุมพยุหะ ไม่ได้มี เป็นภาพ ทรงดอกบัว ปลายแหลมตามที่อ้างกันต่อ ๆ มาหลายเล่มในปัจจุบัน แต่ในตำราพิไชยสงครามมี แผนภาพที่แตกต่างออกไป




ส่วนอีกพยุหะ หนึ่งเป็นพยุหะหลักในการทำสงครามของชาวอินเดีย เรียกว่า "จักรพยุหะ"  ของไทยเรามีแผนภาพที่ ง่ายกว่า ของ ตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณ  ดังแผนภาพ แรกข้างล่าง



 ขณะที่ จักรพยุหะในมหากาพย์ มหาภารตะยุทธ  เป็นภาพสลักที่ นครวัด ในสมัยขอมโบราณ  เป็นรูปคล้าย ล้อรถศึก

                             (http://anu-photocollection.blogspot.com/2009/06/mahabharat-depicted-on-walls-of.html )

มีอีกแผนภาพพยุหะหนึ่ง ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ  ครุฑพยุหะ (แผนภาพครุฑพยุหะ)  แผนภาพแรก เป็นที่ผู้เขียนสำเนามา  ส่วนภาพที่ลงสี เป็นภาพที่มีเผยแพร่ในหนังสือหลายเล่ม เช่น การทหารของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หนังสือครุฑ และ หนังสือกระบวนพยุหะยาตราประวัติและพระราชพิธี เป็นต้น




ขณะเดียวกัน แต่ละภาพนี้เรียกกันว่าอย่างไร ตามที่ผู้เขียนได้อ่าน ตำราพิไชยสงครามจาก สมุดไทย ในสมัยโบราณมีเค้่าเงื่อนว่า เป็น ...แผนภาพกระบวนพยุหะ  เช่น แผนภาพปทุมพยุหะ  แผนภาพจักรพยุหะ
มากกว่าการเรียกชื่อแบบอื่น ๆ ครับ


วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com

Mar 2, 2012

รถพยุหะในตำราพิไชยสงคราม เลขที่ 43 สำนักหอสมุดแ่ห่งชาติ



ในช่วงเดือน ธ.ค.54 ระหว่างที่ทำการศึกษา เอกสารโบราณ "ตำราพิไชยสงคราม" ณ สำนักหอสมุด แห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก มีตำราทั้งหมด   217 เล่ม หมวดยุทธศาสตร์

ได้อ่านอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ ตำราพิไชยสงคราม เลขที่ 43 "ว่าด้วยอักษรแปดหมู่และการจัดทัพ"  สมุดไทยขาว ตัวอักษรดำ ภาษาไทย-ขอม เดิมเป็นคัมภีร์ของพญายอง ภาษาหริภุญชัย พระยาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา จำลองออกเป็นอักษรขอม ไทย
เริ่มด้วย พระคัมภีร์มหาสัทนิตย พระคัมภีร์จุลสัทนิตย พระคัมภีร์รุกโตไทยมาลินี เป็นวิธีอุปเทพบุพาจารยหริภุญชัยประสงค์เพื่อให้ผู้เป็นกวีราช ปุโรหิตาจารย์ ตั้งแต่งพระอักษร จารึกพระสุพรรณบัตรถวายพระนามกษัตริย์ขัติยราชวงษานุวงษ์ให้เจริญเดชานุภาพ และจะตั้งแต่นามบ้านเมือง ตั้งชื่อเสนามนตรี             มุขมาตยผู้ใหญ่ผู้น้อย ตั้งชื่อกุมารกุมารีและ ตั้งศุภอักษรราชสารเจรจาความเมือง และแต่งคำอุปกาษเทพยดา ประกอบในพระราชพิธีศุภมงคล เพื่อจะป้องวัน สรรพภัยภยันตรายพึงพิจารณาอักขระต้นสามอักษร ให้ต้องครุ ลหุ ในคณะหมู่ทั้ง สี่หมู่

หน้าต้น 1-74  เริ่มการจัดทัพหน้า 29 เป็นต้นไป
หน้าปลาย 1-77  จัดทัพ ถึงหน้า 11

มีพยุหะหนึ่งที่คุ้นมาก ในฉบับ กรมศิลปากร ปี 2512 คือ ครุฑพยุหะ ในหน้า 29-30


 และในหน้า 61-62  ยังมีภาพ รถพยุหะ ยกทัพ เดินทางหรือคับขันช่องทางแคบ ตามแม่น้ำ ภูเขา ป่าชัฏ  ทุ่งกว้าง ให้ตั้งตามชื่อ จะตั้งค่ายอยู่ก็ได้ จะตีกลางแปลงก็ได้ (วาดคร่าว ๆ มาเป็นต้นฉบับ)


ตามที่อนุมานกันว่า  ในจตุรงคเสนามีพล 4 เหล่า พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า  ไทยเราไม่มีพลรถ ดูท่า เห็นจะต้องศึกษากันอีก เพราะ หากมีพยุหะที่เรียกว่า "รถพยุหะ" แล้วไฉนจะไม่ีมีพลรถ    ในลิลิตตะเลงพ่ายก็ยังมีบทบรรยาย พลรถไว้ด้วย  น่าคิดครับ

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com