Oct 28, 2012

ตำนานพิไชยสงครามไทย กับคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างความโด่งดัง

                      ภาพ จัดทัพครุฑพยุหะ

                      ภาพ จัดทัพมหิงพยุหะ


                      ภาพ จัดทัพมังกรพยุหะข้ามแม่น้ำ
   
            เรื่องของตำราพิไชยสงครามไทย มีคนสนใจกันค่อนข้างมากเพราะ ต้นฉบับจริงที่เป็นฉบับสมุดไทย  ทั้งที่เป็นฉบับหลวงหรือ ฉบับสมุดไทยดำและสมุดไทยขาว มีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ ศึกษาจากฉบับจริงและจับต้องของจริงเนื่องจาก
            อย่างแรก ตำราพิไชยสงคราม ยากนักที่จะมีการสืบทอดหรือตกมาถึงยุคปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นตำราโบราณ มีอายุนับร้อย ๆ ปี และ ผู้ที่จะได้มีครอบครอง และได้ศึกษาต้องเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดิน เช่น พระมหากษัตริย์  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)  บุคคลในราชสำนัก หรือ บรรดาแม่ทัพนายกอง ซึ่งสามัญชนและชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ศึกษา ด้วยข้อจำกัดในชาติตระกูลที่เกิดมา และความไม่รู้หนังสือ
             อย่างต่อมา บ้านเมืองไทยสมัยก่อนได้ผ่านสงคราม การรบทัพจับศึก รวมถึงการเสียกรุงถึง 2 ครั้ง บันทึกเอกสารทางราชการ เอกสารสำคัญและตำราพิไชยสงครามคงถูกเผาทำลาย หรือ พม่าคงขนเก็บไปด้วย จึงยากที่จะมีโอกาสที่ "ตำราพิไชยสงคราม" จะรอดเหลือมาถึงปัจจุบัน
            อย่างสุดท้าย การได้สัมผัสตำราพิไชยสงคราม และรับรู้ถึง "ตำนานเรื่องราวการรบทัพจับศึก" ที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นจอมทัพ หรือ ทัพหลวง  เหล่าบรรดาแม่ทัพนายกอง ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ และ มีส่วนในการจารึก ตัวอักษรที่ชุบบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนสมุดไทย  ตั้งแต่เหตุของการเกิดสงคราม การเกณฑ์ทัพ การเลือกแม่ทัพ และโดยเฉพาะ 21 กลศึก  ยังมีการจัดตั้งทัพ-พยุหะ ทั้งตรีเสนา เบญจเสนา การเคลื่อนทัพ  การรุกรบ -ถอยทัพ  การปล้นค่ายและการเข้าตีเมือง  ตลอดจนโหราศาสตร์พิชัยสงคราม ฯลฯ

            ขณะที่ในปัจจุบัน ผู้เขียนได้มีโอกาส ศึกษาและเรียนรู้จากต้นฉบับตำราพืไชยสงคราม เล่มสมุดไทย ในหลายฉบับ ที่ ห้องกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
            โดยได้นำมาความรู้มาเขียน "ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์"
             ในขณะที่เข้าไปศึกษา ก็ได้สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งดลบันดาลให้หยิบได้ฉบับที่ตรงกับ ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เลยจากที่มีอยู่ถึง 217 เล่มสมุดไทย
           สำหรับการศึกษาและเขียน ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ พบว่า
             -ตำราทั้ง 2 เล่มสมุดไทยนั้น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงมาก เพราะมีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก
              แต่ไม่ได้หมายความว่า จะทำการศึกษาและตีความทำความเข้าใจได้ด้วย ตำราทั้ง 2 เล่ม เพราะ ต้นฉบับจริงจากการศึกษาของผู้เขียน ตำราพิไชยสงครามไทยมี 2 ตำรับ  ตำรับแรก มี 5 เล่มสมุดไทย เป็นฉบับคำกลอนทั้งหมด  และตำรับที่สอง มีอย่างน้อย 1 เล่มสมุดไทย เป็น เล่มว่าด้วย กระบวนพยุหะ (ตามหลักฐานที่สืบค้นใน สำนักหอสมุดแห่งชาติ  ตำราพไชยสงคราม ฉบับหลวงพิไชยเสนา -ฉบับหมอบรัดเล)
            ดังนั้นทำให้ผู้เขียนต้องทบทวนวรรณกรรม เกี่ยวกับความเป็นมาของตำราพิไชยสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดรูปแบบพยุหะ หรือ รูปแบบการจัดทัพ ซึ่งยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ประกอบกับ การสืบทอด หรือ ครอบครองตำราพิไชยสงครามก็ยังไม่เคยมีการศึกษาว่ามีแนวทางเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ผู้เขียนสังเคราะห์หาความจริงในเรื่องนี้ด้วย

            นั่นคือความจำเป็นและเป็นความสำคัญยิ่ง สำหรับผู้ศึกษารุ่นใหม่ อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างเพียงพอ เห็นว่าไม่มีความสำคัญ อ่านและทำความเข้าใจทั้ง 2 เล่มสมุดไทยที่พบของ จ.เพชรบูรณ์ก็เข้าใจแล้ว (ซึ่งไม่จริง)
            -การจัดพิมพ์เอกสารโบราณ ในความคิดของผู้เขียน การพิมพ์ เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการสืบต่ออายุเอกสารหรือหนังสือ ยิ่งเหมือนต้นฉบับได้ยิ่งยอดเยี่ยม เพราะจะทำให้ผู้มาทำการศึกษาต่อได้เห็นว่าของเดิมเป็นมาอย่างไร
             ขณะที่การถอดความและแปลความแม้ว่าอยากให้เป็นปัจจุบัน แต่ไม่ควรจัดทำใหม่ด้วยเหตุผลของความสวยงาม ซึ่งไม่ใช่แก่นหรือส่าระสำคัญ
             ดังภาพกระบวนพยุหะ ทั้ง 3 พยุหะ ที่ผู้เขียนสำเนามาจากฉบับจริง (ฉบับชุบใหม่ ในรัชกาลที่ 2 สำหรับฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เป็นสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งยังไม่เหมือนตามต้นฉบับเพราะเป็นฉบับร่าง
              แต่เราจะเห็นถึง
              1) ความเป็นเอกสารโบราณ และภูมิปัญญาที่ เหล่าบรรพชนของเราก็รังสรรค์และทิ้งไว้เป็นมรดกให้รุ่นลูกหลาน
              2)เมื่อเราอ่านและ เห็นความเป็นโบราณ ย่อมให้สัมผัส ความรู้สึกและ   สุนทรีย์ที่แตกต่างจากการทำให้สวยงาม ด้วยเส้นที่ตรง และวาดจากกราฟิคสมัยใหม่ ซึ่งไม่ให้สัมผัสอันสุนทรีย์ ดังกล่าว
              3) ศิลปะในยุคนั้น เมื่อวาดใหม่ ย่อมทำลายและสืบหาร่องรอยไม่เจอ การถอดความ ผู้เขียนจึงคงไว้ซึ่งรูปแบบ ภาพ ยกเว้นภาษา ที่ต้นฉบับเป็นภาษาโบราณ แต่ที่ถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน      เพื่อยังให้คุณค่าทางศิลป์ เหมือนเดิม
              เราคงไม่แปลกใจว่า วัดเก่า เอกสารเก่าโบราณ มักถูกรื้อสร้างใหม่ เขียนใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ที่อยากทำอะไรไว้ว่าเป็น "ความทรงจำที่ตนสร้างขึ้น แต่ลืมไปว่าได้ทำลายคุณค่าของเอกสารโบราณ และความสำคัญในอดีตไปอย่างไม่มีทางทำให้หวนกลับมาได้ แม้ในภายหลังรู้สึกว่าเสียดายแต่ก็สูญสิ้นมลายไปแล้ว"


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com