Jan 10, 2012

ถอดรหัส "ตำราพิชัยสงคราม" ฉบับเมืองเพชรบูรณ์


          นับตั้งแต่ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อ ธ.ค.51  นับเวลาได้ ประมาณ 3 ปี ผู้เขียนได้มีเวลาศึกษาอย่างจริงจัง และการไปสืบค้นที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
          ยิ่งเป็นที่น่ายินดีและรู้สึกถึงคุณค่า และ ความสำคัญของเอกสารโบราณทางทหาร ชิ้นนี้เพราะ สามารถศึกษาทำความเข้าใจได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

          อาจเป็นเพราะเงื่อนเวลา และ ลิขิตของ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจน สิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่ต้องการให้สามารถไขรหัสได้ เพื่อให้ อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาส ศึกษาและทำความเข้าใจ จะได้สืบต่อเอกสารโบราณชิ้นสำคัญทางด้าน พิไชยสงครามของบรรพบุรุษและประเทศชาติ
        ความน่าอัศจรรย์ใจได้บังเกิดขึ้น
        ....เมื่อผู้เขียนได้ ถอดความ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มคำกลอน เสร็จ เพราะมีเอกสารหลายฉบับที่สามารถใช้เทียบเคียงได้ ในการถอดมาเป็นภาษาปัจจุบัน (แม้จะไม่ได้ทั้งหมดของความรู้ก็ตาม แต่ก็เกือบสมบูรณ์)
        ....ในระหว่างนั้นก็มานั่งคิดว่า   ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์  เล่มแผนภาพ จะสามารถถอดความให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุด  คงต้องไปที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ
           และก็จะเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้ จับต้องและศึกษาในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใครจะทำก็ได้
          -ภาษาในตำราพิไชยสงครามเป็น ภาษาเก่า ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น    จะทำความเข้าใจได้หรือไม่
          -แล้วจะหยิบเล่มที่เท่าไหร่  เล่มไหนมาศึกษากันดีเล่า


      ..ผู้เขียนได้ทำเรื่่องขออนุญาต เพื่อเข้าศึกษาตำราพิไชยสงคราม โดยไม่ได้คิดว่าต้องการอะไร ในขณะนั้น เพียงอยากได้ถึง ความรู้สึก การจับต้องเอกสารโบราณ เพราะหากเขียนถึงแต่ แค่มีโอกาสเห็นในที่ต่าง ๆ มาก่อน หรือศึกษาจากตำราที่พิมพ์ใหม่  จะสัมผัสต้องถึงความเป็นโบราณ และคุณค่าทางจิตใจได้อย่างไรเล่า   และแม้ไม่เจออะไรเลยก็ได้มีโอกสารสัมผัสสมุดไทยโบราณ ถือเป็นความอิ่มอกอิ่มใจแล้ว    ผู้เขียนจึงเลือกมา ทั้งหมด 15 ฉบับ (ล้วนแต่ฉบับที่ยังไม่เคยเห็น) จากเอกสารโบราณทั้งหมด  217 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อ หมู่ยุทธศาสตร์ ปี 2546

         -สิ่งที่ปรากฎ คือ ใน 15 เล่มสมุดไทย ที่เลือกมานั้นไม่ทราบว่าในตัวเล่มเป็นอย่างไร แต่ได้แค่ เดา ๆ จาก บัญชีรายชื่อ เท่านั้น
           ในวันแรกที่ไปศึกษา   ผู้เขียนได้ตั้งจิตอธิฐาน ว่า ขออนุญาตศึกษา ทำความเข้าใจเพื่อจะได้ นำองค์ความรู้ในเรื่องนี้ และหากกระทำได้ขอให้ เข้าใจรหัสแห่งปริศนาของตำราพิไชยสงคราม เพื่อรุ่นลูกหลาน จะได้มีโอกาสเรียนรู้และ ได้ย้อนนึกถึงสิ่งที่ พระมหากษัตริย์ แม่ทัพนายกองได้ อุตส่าห์ เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิต จนกระทั้งเป็นอักษร ในสมุดตำราพิไชยสงครามปรากฏตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน
       
            เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้หยิบตำราพิไชยสงครามจากห้องเก็บเอกสาร ให้มา 5 เล่มสมุดไทย บอกว่า ศึกษาได้ครั้งละ 5 เล่ม
            ใน 5 เล่มดังกล่าว  หลังจากที่เปิดอ่าน เล่มแรก เป็นเล่มที่ 5 (ระบุไว้) ของตำราพิไชยสงครามคำกลอน  ซึ่งได้เคยมีโอกาสอ่านมาก่อนหน้านี้  ผู้เขียนมีความรู้สึกแปลกประหลาดใจ คือ ทำไมจึงอ่านได้ คล่องนัก ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในภาษาโบราณมาก่อน จะมีที่ติดอยู่บ้างเนื่องจากหาวิธีอ่านไม่ได้  แต่พอกลับไปบ้าน(พร้อมได้อ่านเล่มอื่น ๆ ที่เป็นเอกสารในยุคเดียวกัน)  และมาต่อในวันรุ่งขึ้นกลับอ่านและตีความได้
          พอเปิดอ่านในฉบับถัดมา  รู้สึกว่าอัศจรรย์ใจมาก ครับ ช่างเหมือน กับ เล่มกระบวนพยุหะ หรือ แผนภาพ ใช่แน่เลย   ผู้เขียนมั่นใจมาก ๆ ว่า น่าจะตรงกันเลยทีเดียว  เสียดายแต่ว่าไม่ได้ติดเอาฉบับกระบวนพยุหะมาด้วย   ต้องเอามาเทียบในวันพรุ่งนี้อีกที  วันนั้นดีใจมากครับ
          เป็นอันว่า ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ ทั้ง 2 เล่มสมุดไทยนี้ ถอดรหัสได้อย่างแน่นอน

         พอวันที่ สอง นำเอกสารมาเปรียบเทียบก็ตรงหมดทั้งเล่มกระบวนพยุหะ อย่างแบบหน้าต่อหน้าครับ ยังมีหน้าอื่นที่ แตกต่างออกไป ซึ่งฉบับเมืองเพชรบูรณ์ไม่ปรากฎ ขณะที่ตัวอักษรข้อความชัดเจน กว่า ฉบับเพชรบูรณ์ เสียอีก  ก็ได้ทำการคัดลอกเลยทั้งวัน

         หลังจากนั้น ได้ค้นคว้าเอกสาร เกี่ยวกับกระบวนพยุหะยาตรา  เลยขอดูที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติอีก 1เล่ม (เดิมขอไว้ 14 เล่ม)   ปรากฎว่า เล่มใหม่นี้ เป็นฉบับกระบวนพยุหะ ที่เหมือนกับเล่มก่อน (ไม่ระบุว่าเขียนขึ้นเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นรัตนโกสินทร์ตอนต้น)  เล่มนี้เป็นฉบับที่ ยกใหม่ ในรัชกาลที่ 2 เล่มที่ 1 (ระบุไว้อย่างชัดเจน)  เป็นตัวอักษรทอง  แต่ส่วนใหญ่เป็นหน้าเปล่า ยกเว้นหน้าต้น  ๆ  ที่บันทึกข้อความไว้  ทำให้นึกได้ทันทีว่า  ที่เป็นหน้าว่างเปล่า นี้คงจะเหมือน "Vyuha Workbook" หรือ ที่เป็นแบบชาวบ้านเรียก ฉบับกลางแปลง ให้ สามารถนำติดตัวแม่ทัพ ไปใช้ในสงครามจริงและเขียนบันทึกระหว่างการทำสงครามได้
        เพียงเท่านี้ ก็ตอบคำถาม และหลาย ๆ อย่างที่ชอบถามกันจากผู้ที่สนใจในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ได้ มากกว่าที่เคยมีมาก่อน
        ความอัศจรรย์ คือ ผู้เขียนเลือกฉบับ ที่ตรงมาได้อย่างไร จาก 217 เล่ม ที่มีแค่รายชื่อ และ เจ้าหน้าที่ ก็หยิบมาให้ตั้งแต่ในวันแรก  และได้พบในฉบับอื่น ๆ อีก ผู้เขียนใช้เวลา ศึกษาและคัดลอกอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ รวมเวลาแล้ว เพียง 7 วันทำการเท่านั้นครับ   ทำก่อนนั้นก็ไม่ได้   (เพราะ สำนักหอสมุดปิดกลุ่มงานตัวเขียนและอักษรจารึก เพื่อการย้ายไปตึกใหม่ อยู่ ประมาณ ก.ย.54 จนเปิดบริการใหม่ใน เดือน พ.ย.54  )      

      ถือเป็นความโชคดี และ ตรงกับเงื่อนเวลาที่ ลิขิตให้ สามารถ ทำความรู้ความเข้าใจได้ และคงไม่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แน่ น่าอัศจรรย์ใจเป็นยิ่งนัก


ดร.ดนัย เทียนพุฒ

ผู้อำนวยการ
 โทร 029301133


         
   

No comments: