สาระจากตำราพิไชยสงครามไทย(The Essense of the Phichaisongkram)
โดย วสันต์ มหากาญจนะ
วารสารเซนต์จอห์น
ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 มกราคม-ธันวาคม 2542 หน้าที่ 144 - 155
บทคัดย่อการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในอดีต พึ่งพาหลักฐานเอกสารซึ่งเป็นของราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ถูกนำมาใช้กันอย่างจำกัดเพียงไม่กี่ประเภท เช่น พระราชพงศาวดาร เป็นต้น จนถือเสมือนเป็นกรอบในการมองประวัติศาสตร์ในอดีตที่ครอบคลุมเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดทุกด้าน โดยแท้ที่จริงแล้วยังมีเอกสารอีกมากมายซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ควรค่าแก่การพิจารณา ให้คุณค่า ตลอดจนเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างสมมุติฐานต่าง ๆ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับวงวิชาการประวัติศาสตร์
(อ้างอิง http://ecurriculum.mv.ac.th/library2/histrory/woldhistory2/th_journal2.html)
เบื้องต้น
ตำราพิไชยสงครามไทยเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือตำราสำหรับใช้ในการทำสงคราม ในพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “พิไชย, พิชัย คือ ความชนะ ( ป.ส.วิชัย ) พิชัย สงคราม ในตำราว่า ด้วยกลยุทธ์, ตำราว่าด้วยการเอาชนะในสงคราม” ( ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 584 ) คำอธิบายดังกล่าวเป็นการอธิบายในความหมายอย่างกว้างโดยอาศัยการพิจารณาจากสภาพของสังคมและวัฒนธรรมในช่วงระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่เมื่อได้ศึกษาเนื้อหาของตำราพิไชยสงครามไทยแล้วจะพบว่าความหมายที่ปรากฎอยู่ในพจนานุกรมดังกล่าวนั้น กล่าวได้ว่ามีความหมายแคบจนเกินไป ยังมีเรื่องราวที่สอดแทรกอยู่ในตำราพิชัยสงครามไทย อย่างน้อย 2 เรื่อง นอกเหนือจากกลยุทธ์ หรือการเอาชนะในสงครามสองเรื่องดังกล่าวได้แก่
1. เรื่องราวของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ( ในที่นี้มีความหมายถึงความเชื่อในสิ่งที่อธิบายไม่ได้ตามโลกทรรศน์ของผู้คนในสมัยโบราณ ) ดังปรากฎในบานแพนกของตำราพิไชยสงครามเลขที่ 179 ซึ่งเป็นตำราพิไชยสงครามที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนี้
“… ได้จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญาชำระคัมภีร์ศาสตร์ พยากรณ์ฤกษ์บนล่าง วิธีวิชาไมยมนต์ เลขยันต์ และอาศัยได้ข่มนาม และพระราชพิธีข่มนามที่พยุหะฉลาดในการเรียบเรียงถ้อยคำ และอรรถมคธภาคออกเป็นสยามภาคได้ ( “ตำราพิไชยสงคราม”,สมุดไทยคำ.อักษรโดยเส้นสีเหลือง 179 : หน้าต้น )
2. เรื่องราวของแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนึกการสั่งสอน ว่าด้วยการปกครองต่าง ๆ เช่น โลกวรรต ธรรมวัตร/ คุณสมบัติของแม่ทัพ ราชสวัสดิ์ สวัสดิรักษา เบญจปักษี ที่มาของตำราพิไชยสงครามมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติศักราช 880 ขานศก ครั้นสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างวัดพระศรีสรรเพช เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิไชยสงครามและแรกทำสารบาญชัย พระราชสำฤทธิทุกเมือง ( สำนักนายกรัฐมนตรี,2510:97 ) คำว่า “แรกตำราพิไชยสงคราม” ดังกล่าวนี้ถามผู้รู้ที่ได้ทำการศึกษามาก่อนให้ได้ความหมายเป็น 2 นัยคือ
1. หมายถึง โปรดให้เขียนขึ้น 2. หมายถึง ได้รวบรวมไว้เป็นครั้งแรก
ตำราพิไชยสงคราม ของไทยมีการชำระในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2368 โดยมีกรมพระราชวังบรมมหาศักดิพลเสพ เป็นแม่กองในการชำระ ดังนี้ด้วยสาเหตุที่ผู้ที่มีความรู้จะอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฎในต้นฉบับนั้นมิได้สมบูรณ์เหมือนดังเดิม ผู้ที่อยากเรียนรู้ก็ไม่สามารถจะเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้ง ตำราพิไชยสงครามที่มีอยู่ในหอหลวงนั้นมีมาก มีการจำลอง (คัดลอก) ต่อมาก็เป็นเรื่องปรกติที่จะต้องมีความผิดพลาดด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระดำริจัดให้มีการชำระตำราพิไชยสงครามขึ้น
จึงมีพระราชบัณฑูลดำหรัดสั่ง พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์จ้าวสุริยาวงศ์ ให้จัดเข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญาชำระคัมภีร์ศาสตร์พยากรณ์ฤกษบนล่างวิทธีวิชาไมยมนต์ เลขยันต์แลอาถันไม้ข่มนาม และพระราชพิธีข่มนามที่พยุหะ ฉลาดในการเรียบเรียงถ้อยคำ และอรรถภาษามคธออกเป็นสยามภาคใต้ จะให้ชำระพระราชตำหรับพระพิไชยสงครามให้ถูกถ้วนเป็นหมู่เป็นเหล่ามิได้ฟั้นเฟื่อนให้รู้เห็นรู้ง่าย (“ตำราพิไชยสงคราม” สมุดไทยคำอักษรไทย เส้นรงค์ 179:หน้าต้น)
ในการชำระดังกล่าวนี้ได้ทำการเชิญสมุดพระราชตำหรับ 14 เล่ม นั้นออกมาชำระตรวจทานความถูกต้องแล้วนำไปใช้ “ให้คัดส่งเข้าไว้ข้างพระกี่ฉบับหนึ่งไว้ ณ หอหลวงฉบับหนึ่ง” คำว่า “ฉบับ” ในที่นี้น่าจะมีความหมายเป็นชุดแต่ชุดหนึ่งควรจะมีตำราพิไชยสงครามจำนวนเท่าใดที่ยังเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย
ตำราพิไชยสงครามฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวคือ ตำราพิไชยฉบับหมอปลัดเลย์ ซึ่งโรงพิมพ์ของหมอปลัดเลย์ได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2418 สำหรับต้นฉบับที่ใช้ในการพิมพ์ดังกล่าวนี้กล่าวว่าได้คัดลอกมาจากฉบับของหลวงพิไชยเสนา (ปลัดเลย์ 2418:หน้าต้น) ในปี พ.ศ. 2460 ตำราพิไชยสงครามที่ถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่งภายใต้ชื่อพิไชยสงครามคำฉันท์ แต่มีเนื้อความของพิไชยสงครามฉบับหมอปลัดเลย์เพียงหน้าที่ 1-17 เท่านั้น สำหรับตำราพิไชยสงครามอีกชุดหนึ่งก็ใช้ชื่อว่า “ตำราพิไชยสงครามคำกลอน” ได้นำต้นฉบับที่เก็บไว้ในหอสมุดวชิรญาณนำมาจัดพิมพ์
ในการสำรวจความสมบูรณ์ของเนื้อหาในตำราพิไชยสงคราม ผู้เขียนได้เปรียบเทียบตำราพิไชยสงครามทั้งสมุดไทยดำ-ขาว ที่มีอยู่ในหอสมุดวชิรญาณตำราพิไชยสงครามที่ถูกจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งใช้ชื่อว่า “พิไชยสงครามคำกลอน” ในด้านของเนื้อหาจัดได้ว่าตำราพิชัยสงครามของหมอปลัดเลย์นั้นมีความสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณาจาก
1. ความสมบูรณ์ด้านเนื้อหา เช่น จากข้อกำหนดของการชำระตำราพิไชยสงครามเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 “เรียบเรียงถ้อยคำและอรรถคธภาคออกเป็นสยามภาคใด” (ตำราพิไชยสงคราม สมุดไทยคำ อักษรไทย เส้นสีเหลือง.179:หน้าต้น) ตำราพิไชยสงครามของหมอปลัดเลย์ก็มีการแปลอรรถมคธออกเป็นภาษาไทยแล้ว
2. เนื้อหาได้แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ
2.1 กลศึก อุบายสงคราม ยุทธศาสตร์ ยุทธวิถี อุบายสงคราม สาเหตุของสงคราม
2.2 แบบแผนธรรมเนียมราชการ คำสอนข้าราชการ ข้าราชสำนัก ตำราพิไชยเสนา
2.3 เนื้อหาในเรื่องของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ โหราศาสตร์ เคล็ด ลาง นิมิต การจับยามคัมภีร์ต่าง ๆ
3. รูปภาพในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งแสดงถึงการจัดขบวนกันเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ครุฑ มักร ฯลฯ ตำราพิไชยสงครามบางฉบับมีรูปภาพอย่างเดียวไม่มีเนื้อหาตำราพิไชยสงครามฉบับหมอปลัดเลย์ มีรูปภาพเช่นกันแต่อาจจะน้อยกว่าเนื่องมาจากเรื่องของการพิมพ์
สำหรับคำว่า “ฉบับหนึ่ง” ดังที่ปรากฎอยู่ในหน้าต้นขอตำราพิไชยสงครามเลขที่ 179 ดังกล่าวนั้นสำหรับผู้ศึกษาแน่ใจว่าน่าจะมีความหมายเท่ากับ “ชุดหนึ่ง” ชุดหนึ่งมีตำราพิไชยสงคราม 5 เล่ม โดยพิจารณาจากตำราพิไชยสงครามฉบับหมอปลัดเลย์ที่กล่าวไว้ว่า “รวมเป็นห้าเล่มสมุดไทย” (ปลัดเลย์ 2418:หน้าปก) แสดงให้เห็นว่าตำราพิไชยสงครามที่ครบชุดนั้นมี 5 เล่ม ต้นฉบับตัวเขียนตำราพิไชยสงครามในหอสมุดวชิรญาณส่วนหนึ่งก็สามารถจัดเป็นชุดได้ 5 เล่มเหมือนกันเพราะระบุไว้บนบานแพนกว่าเป็นเล่มที่เท่าไหร่ โดยมากเป็นฉบับที่มีความต่อเนื่องทางด้านเนื้อหาและลักษณะของการได้มาก็ได้มาเป็นชุด
ส่วนตำราพิไชยสงครามอีกเล่มหนึ่งอาจถือว่าเป็นฉบับเอกเทศก็ได้คือ ได้มาในลักษณะที่ไม่เป็นชุด เนื้อหาอาจต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องกัน แต่เมื่อได้นำมาเรียบเรียงเนื้อหาเปรียบเทียบกันก็อาจจัดได้ว่าเป็นตำราพิไชยสงครามที่น่าจะจัดขึ้นเป็นชุดเช่นเดียวกัน แต่ด้วยสาเหตุของการคัดลอกที่ไม่เป็นระบบระเบียบต่าง ๆ การหยิบยืบไปใช้ในการศึกษาทำให้ตำราเหล่านี้เป็นตำราที่กระจัดกระจายพลัดผูก และบางเล่มก็ไม่ได้บอกนามผู้แต่ง (ชุบ) ไม่มีการชำระวันเดือนปีที่เขียนที่ได้ทำให้เกิดปัญหาไม่น้อย
อย่างไรก็ตามมีตำราพิไชยสงครามฉบับเอกเทศส่วนหนึ่งที่มีกลอนต่อท้ายแสดงให้เห็นจำนวนของตำราพิไชยสงครามว่ามีจำนวนเล่มเท่าใดต่อ 1 ชุด “จบเสรทสำเรทธิสิ้น สุดสาร/ห้าเล่มมีประมาณกล่าวไว้” (ตำรา พิไชยสงคราม.สมุดไทยขาว.อักษรไทย.หมึกดำ.เลขที่ 88.มัด 5:หน้าปลาย)
จึงสรุปในที่นี้ว่า ตำราพิไชยสงครามที่มีเนื้อหาความสมบูรณ์ที่สุดนั้นก็คือฉบับหมอปลัดเลย์ และฉบับอื่น ๆ ที่จัดได้เป็นชุด ๆ ละ 5 เล่ม
(ข้อมูลจาก ขุนนางอยุธยา http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=2064&page=1)
No comments:
Post a Comment