Dec 2, 2011

ตำราพิชัยสงคราม : เจาะภูมิปัญญาไทย(1) โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

เกริ่นนำ
         
         การเจาะภูมิปัญญาไทยจาก "ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์" ในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้าน"ยุทธศาสตร์ไทยโบราณ" แต่ก็ยังได้คุณค่าในด้านอื่น ๆ อีกโดยจะกล่าวในลำดับต่อ ๆ ไป


(ภาพ ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณสุนทร คงวราคม-เพชรบูรณ์)


       ผู้วิเคราะห์ตีความและอนุมานไปตามหลักฐานเท่าที่สืบได้ ดังนั้นหากผู้รู้ท่านใดมีหลักฐานและเข้าใจกลในของตำราพิชัยสงครามทั้งฉบับนี้และ อื่น ๆ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแลกเปลี่ยนและปรับปรุงแก้ไข  ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้ในสิ่งที่ บรรพบุรุษของเราได้รังสรรค์ไว้ให้ลูกหลานในยุคต่อๆ มา
       เมื่อผู้วิเคราะห์ได้มีโอกาสศึกษา "ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์" ทั้งหมดในฉบับคำกลอนและ ฉบับผังภาพ(ตามที่เรียกกัน)
       ได้ข้ออนุมานและนำไปสู่ความเข้าใจที่มากมายนับทวีคูณในตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ 
       
        และมากยิ่งไปกว่านั้นสำหรับ ยุทธศาสตร์ไทยโบราณ จาก "ตำราพิไชยสงคราม"  คือ
         (1) การได้มีโอกาสศึกษาด้านประวัติศาสตร์และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ข้ออนุมาน และการวิเคราะห์ที่ทำให้สามารถเกิดความเข้าใจและความชัดเจนใน "ตำราพิไชยสงครามของไทย" ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงการกล่าวอ้างกันตามหลักฐานจากพระราชพงศาวดารและลอกหรือ สำเนาเรื่องดังกล่าวต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
         (2) ได้คุณค่าใ นวิธีการวิเคราะห์ตำราพิชัยสงคราม จากการใช้กรอบความคิดของพลตรี หม่อมราชวงค์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น ดังนี้
            -การใช้หลักฐานและกระบวนการทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง
            -การใช้ความรู้ทางภาษา นิรุกติประวัติ และวรรณคดีเพื่อชี้ให้เห็นว่า ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยสมัยใด ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องและสืบต่อกันมาอย่างใกล้ชิด
            -การใช้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาพิสูจน์คำและข้อความที่ปรากฎ

           ความคิดที่จะเพียงแค่ศึกษาเกี่ยวกับ ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์  ให้ได้รู้เรื่องราวและยังความสนุกสนานทางกลยุทธเพื่อนำไปเป็นเกร็ดและที่มาของกลยุทธธุรกิจสำหรับ สอนในวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ ใ ห้กับ นศ. MBA และเล่าในการบรรยายสำหรับธุรกิจ จึงกลายเป็น ศึกษาถึง "ยุทธศาสตร์ไทยโบราณ"ไปอย่างอัตโนมัติ

เจาะภูมิปัญญาไทย

         สิ่งที่เป็นความรู้สึกแรกที่ผู้เขียนได้เห็นตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ทั้งฉบับ (แม้จะเป็นรูปภาพแต่ด้วยคุณภาพของผู้ถ่ายภาพทำให้เห็นรายละเอียดย่อ-ขยายรูป ด้วยโปรแกรมดูภาพได้เป็นอย่างดี)
         ถึงกับคิดว่า   "ทำไมจึงมีความสมบูรณ์มาก และ ตกมาอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ จนถึงปัจจุบันได้อย่างไร" -นี่ก็น่าศึกษาสืบค้นเส้นทางประว้ติศาสตร์สายนี้เป็นอย่างยิ่งอีกเช่นกัน

      ข้อค้นพบที่ 1  ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ทั้ง 2 เล่มสมุดไทย
      จากการเทียบเคียงตำราพิไชยสงครามฉบับรัชกาลที่ 1 (ฉบับร่วมสมัย)  ตำราพิไชยสงคราม ของกรมศิลปากร ฉบับรัชกาลที่ 3 และตำนานหนังสือตำราพิไชยสงคราม พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสามารถประมวลสรุปในเบื้องต้นได้ว่า
         1.  ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ฉบับคำกลอน มีเนื้้้อความเทียบได้เท่ากับ
             1) ตำราพิไชยสงครามคำกลอน ฉ.รัชกาลที่ 1 เล่ม 1 ทั้งหมด เลขที่ 177 ของหอสมุดแห่งชาติ(ด้านเนื้อหายกเว้นบางคำและตัวสะกด)
             2) ตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ 1 เลขที่ 125 (เกือบทั้งเล่ม) ของหอสมุดแห่งชาติ ซึ่่งเป็นเนื้้อความต่อจากเล่มที่ 1
             3) ตำราพิไชยสงคราม ฉ.รัชกาลที่ 1 เล่ม 3 ว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพจนถึงวิธีตั้งทัพ เลขที่ 181 (ไม่ครบทั้งฉบับ และไม่มีภาพประกอบ)  ของหอสมุดแห่งชาติ
         2. ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ฉบับกระบวนพยุหะ (หรือการตั้งและจัดทัพ)
            มีลักษณะโดดเด่นโดยเฉพาะ คือ เป็นเรื่อง แผนที่ตั้งทัพ วิธีตั้งทัพ และ การจัดกำลังพลและกองทัพ ที่ยังไม่เคยเห็นมีเป็นเล่มโดยเฉพาะที่เป็นลักษณะการใช้จริง หรือ กลางแปลง ซึ่งมีถึง 64 ภาพ   (ไม่มีคำอธิบายแยกต่างหาก )

            เนื่องจาก ในฉบับรัชกาลที่ 1 ส่วนใหญ่จะมี ภาพแสดง แผนที่ตั้งทัพ วิธีตั้งทัพ และการคำนวณกำลังพล พร้อมคำอธิบายประกอบด้วย(ทำให้ตีความได้)
            ขณะที่ฉบับหลังรัชกาลที่ 1 ในรัตนโกสินทร์ เช่นที่ กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพของพลตรีพระยารามจตุรงค์ เมื่อ พ.ศ.2469   ได้ใช้ต้นฉบับที่จารลงในคัมภีร์ลานของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(เวก บุณยรัตพันธ์)  และพิมพ์เพิ่มเติมครั้งที่ 6 พ.ศ.2512 ในตอนว่าด้วยกล 21 กลศึกและว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพจำนวน 17 ภาพ

            ดังนั้น ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ทั้ง 2 เล่มสมุดไทยจะว่าไปแล้ว เสมือนหนึ่งมี 3-4 เล่มสมุดไทย  ก็ถือว่า ครบแก่นของตำราพิชัยสงคราม จะขาดเพียง การดูนิมิต มหาเวทยาตรา อธิไทยโพธิบาทว์ การเกณฑ์ทัพ ตรีเสนา และ เบญจเสนา รวมถึง เนาวพยัตติ
            และตามหลักฐานตำราพิชัยสงคราม ครบ 1 ชุด จะมี 5 เล่มสมุดไทย ถ้าเป็นฉบับหลวงจะมี 2 ชุดเท่านั้น(ตามหลักฐานการชำระตำราพิชัยสงคราม ในสมัยรัชกาลที่ 3 ) พร้อมบอกผู้ชุบ (ผู้เขียน) ว่าใครเป็นผู้อาลักษณ์ แต่สำหรับฉบับเมืองเพขรบูรณ์ไม่ระบุว่าใครเขียนในฉบับคำกลอน
           แค่พบเท่านี้ก็ยินดีกับคนเพชรบูรณ์แล้วครับที่มีสมบัติล้ำค่าทางประว้ติศาสตร์กองทัพไทยสมัยโบราณ
           
      ข้อค้นพบที่ 2  ฉันทลักษณ์ไทย (ด้านภาษาการเขียน และรูปแบบการเขียน) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
        ตามลักษณะของฉันทลักษณ์ไ ทยที่ใ ช้ใ นตำราพิชัยสงครามเ มืองเ พชรบูรณ์ จะมีลักษณะที่โดดเด่นมากและแตกต่างไปจาก ตำราพิชัยสงครามในฉบับที่ผู้เขียนใช้เทียบเคียงคือ
           1. ฉันทลักษณ์ ที่่ใช้ในตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ จะประกอบด้วย 
                  -เริ่ม ชม ยอหรือให้เกียรติ ด้วยโคลงสี่สุภาพ (โคลงกระทู้ 1 คำ)

                     พิ        เคราะห์การศึกใช้     โดยขบวน
                     ไชยะ  สฤดีทั้งมวล             ท่านไว้
                     สง       สัยสิ่งใดควร           คิดร่ำเรียนนา
                     คราม   ศึกกลศึกให้            ถ่องแท้หรือไทยหวัง
                         (ถอดเป็นภาษาปัจจุบัน)
                 
                  -บรรยายความด้วย กาพย์ฉบัง 16  กับ ร่าย,  กาพย์ฉบัง 16 และ กาพย์ยานี 11  กับ โคลงสี่่สุภาพ เช่น
                     
                    นโมนมัสสิวาย          อิศวรนารายณ์   อันเป็นปิ่นโลกโลกีย์ 
                ขอพรสิีริสวัสดิ์จงมี      เดโชชัยศรี       กำจัดวิบัตินานา
                    ตำนานโบราณสืบมา ประสิทธิ์วาจา   ประเสริฐ์ให้เชี่ยวชาญ
               เราท่านร่ำเรียนชำนาญ  สำหรับทหาร  จะร่ำจะเรียนสืบไป

                  กลหนึ่งฤทธี กลสีหจักร กลลักษณ์ซ่อนเงื่อน กลเถื่อนกำบัง  กลพังภูผา กลม้ากินสวน กลพวนเรือโยง กลโพงน้ำบ่อ กลล่อช้างป่า กลฟ้างำดิน กลอินทรพิมาน  กลผลาญศัตรู  กลชูพิษแสลง กลแข็งให้อ่อน กลยอนภูเขา กลเย้าให้ผอม กลจอมประสาท  กลราชปัญญา กลฟ้าสนั่นเสียง  กลเรียงหลักยืน กลปืนพระราม
        ........  

               ประดับสรรพด้วยพลพัน  ยืนช้างแปรผัน พักตร์ไปตามเกล็ดนาคา
            ยืนช้างให้พิจารณา   ดูเมฆเกลื่อนมา  ยาตราให้ได้ฤกษ์ดี

                เมฆเกลื่่อนทิฆัมพร    อุดรทิศชอุ่มสี
            ลาถึงทักขิณศรี       เข้ากลุ้มเกลื่อนพระสุริยน

       ......

             ตำราวรวากยไว้      วิถาร
          พิชัยสงครามการ       ศึกสิ้น
          จงหาที่พิสดาร           เติมต่อ
          จงอย่าลืมกลสิ้น        เล่ห์เลี้ยวจำความ
              สมเด็จจักรพรรดิรู้  คัมภีร์
          ชื่อว่ากามันทกี           กล่าวแก้
          พิชัยสงครามศรี         สูรราช
          ยี่สิบเบ็ดกลแล้           เลิศให้เห็นกล

  
            -และในส่วน 21 กลศึก เป็นร่ายยาว

             กลศึกอันหนึ่ง ชื่อว่าฤทธีนั้น ชั้นทนงองอาจ 

            -จบด้วย โคลงสี่สุภาพ(โคลงกระทู้ 1 คำ)

             จบ   เรื่่องกลยาตราพยุหะ  แผนณรงค์
             บ     อานัยเขตจง              บอกแจ้ง
              ริ     ร่ำหฤทัยปง               รักษาศาสตร์
             บูรณ์ ภาคเพิ่มกลแถลง     กล่าวไว้หวังผดุง
                 (คาดเดาบางคำ)

             2.ลักษณะของการใช้ฉันทลักษณ์ ดังกล่าวมีจุดเด่นคือ
                -การเริ่มด้วยโคลงสี่สุภาพ หมายถึงต้องการเยินยอ หรือชม อวยยศ        นั้นหมายความได้ว่าจะเป็นการสรรเสริญ พระมหากษัตริย์ หรือ ไม่ก็แม่ทัพใหญ่ เช่นเจ้าพระยาสมุหนายก หรือ เจ้าพระยาสมุหกลาโหม
               -การใช้กาพย์ฉบัง 16 ต้องการที่จะให้เกิดความเร้าใจ หรือ รวดเร็ว ซึ่งเหมาะกับตำราพิชัยสงคราม 
               -การใช้กาพย์ยานี 11  เป็นลักษณะของการพรรณาโวหาร หรือ บทเห่
               -และ การ "ร่าย" ถือเป็นสิ่งพื้นฐานของคนไทยที่เป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จะร่ายกี่ประโยคก็ได้ เพราะเรานิยมคำกลอน และร่ายนี้เป็นของคนไทยแท้ ๆ 
               -บทจบด้วยโคลงสี่สุภาพ  ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับบทนำ
         ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วผู้แต่งหรือเขียนตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์เล่มนี้แต่งถูกต้องตามตำราไทย  และเลือกใช้ฉันทลักษณ์ได้อย่างงดงาม  
          และที่สำคัญยังบอกให้รู้ด้วยว่า ใครเป็นผู้รจนาเริ่มแรก  ...อยากรู้ต้องติดตามตอน 2 ครับ



ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

No comments: