Dec 2, 2011
สาระจากตำราพิไชยสงครามไทย ( The Essense of the Phichaisongkram )(2)
สาระจากตำราพิไชยสงครามไทย(The Essense of the Phichaisongkram)(ต่อ)
โดย วสันต์ มหากาญจนะ
วารสารเซนต์จอห์นปีที่ 2 ฉบับที่ 2 มกราคม-ธันวาคม 2542 หน้าที่ 144 - 155
เนื้อหาในตำราพิไชยสงคราม
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแบ่งตำราพิไชยสงครามออกเป็น 3 ส่วนคือ
ว่าด้วยเหตุแห่งสงครามแผนก 1
ว่าด้วยอุบายสงครามแผนก 1
ว่าด้วยยุทธศาวสตร์และยุทธวิธีแผนก 1
การถือฤกษ์ยามและเลขยันต์อาถรรพ์ศาสตร์ก็คงจะมีมาบ้างแล้วแต่โบราณ (ราชบัณฑิตยสภา 2473 : คำนำ)
ในการแบ่งเนื้อหาดังกล่าวนั้น ผู้ศึกษามีความเห็นว่า ทั้ง 3 เรื่องข้างต้นดังกล่าว ต่างก็เป็นเนื้อหาที่อยู่ในเนื้อหาของยุทธศาสตร์และยุทธวิถีก็ใช้ในการทำสงคราม และจากการที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแบ่งเนื้อหาในตำราพิไชยสงครามในลักษณะเช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานทั่ว ๆ ไป ที่ผู้อ่านจะเข้าใจว่าตำราพิไชยสงครามนั้นมุ่งเน้นในเรื่องของ “การทหาร” แต่เพียงอย่างเดียว
ผลจากการศึกษาของผู้เขียน พิจารณาเนื้อหาต่าง ๆ อย่างดีด้านโดยเฉพาะจากตำราพิไชยสงครามฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดคือ ฉบับหมอปลัดเลย์ พิมพ์ในปีพ.ศ. 2418 ทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วตำราพิไชยสงครามไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เรื่องคือ
2.1 ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหาร เช่น การคัดเลือกแม่ทัพ การจัดเตรียมกองทัพ การเดินทัพ การตั้งค่าย การตีเมือง กลศึก 21 ประการ
2.2 ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ โชคลาภต่าง ๆ นิมิต เคล็ดลาง การทำนายฝัน ความเชื่อในเรื่องตำรามหาทักษาพยากรณ์
2.3 แบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก พระราชกิจของพระมหากษัตริย์ และภารกิจของขุนนาง ตำราไชยเสนา
2.1 ในเรื่องของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในตำราพิไชยสงครามไทย ล้วนเจือปนด้วยเนื้อหาของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งกล่าวได้ว่าแทรกปนอยู่ในเนื้อหาโดยตลอด นับตั้งแต่การตั้งชื่อแม่ทัพ การตั้งทัพการหาชัยภูมิเป็นเสมือนหนึ่งสิ่งที่ควบคู่กับการทำสงครามและจะขาดเสียซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงสภาพของสังคมในขณะนั้น (ในขณะที่ตำราดังกล่าวน่าจะมีอิทธิอยู่อย่างมาก) ความเชื่อดังกล่าวก็ยังมีอยู่และควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่ามีทั้งสิ่ง เป็นอิทธิพลจากความเชื่อภายในและความเชื่อภายนอกคือการนับถือลัทธิพราหมณ์ต่าง ๆ ดังจะสังเกตได้จากบทประฌามพจน์ หรือบทขึ้นต้นของตำราพิไชยสงครามฉบับหมอปลัดเลย์ หน้า 3 ดังข้อความต่อไปนี้ (นะโมนมัสศิวาย, อิศวรนารายน์, อันเป็นปิ่นโลกยโลกีย์. (ปลัดเลย์.2418:3)
ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างในเรื่องของยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่สำคัญ ๆ สองเรื่องหลักใหญ่ คือ ในเรื่องของการตั้งทัพ การจัดทัพ และในเรื่องกลศึก 21 ประการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเนื้อหาดังกล่าว
ในเรื่องของการจัดทัพ การตั้งทัพนั้นเริ่มแรกก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบระเบียบในการบริการการปกครองอยู่ไม่น้อย เพราะความคิดในสมัยนั้นไม่ได้มีการแยกเรื่องของการทหาร พลเรือนออกจากกันอย่างเด่นชัด การเร่งรัดผู้คนเพื่อเข้ารับราชการในยามสงครามนั้นแรกเริ่มคงจะมีการเร่งรัดจากหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สมุหนายก สมุหกลาโหม พระคลัง ในการตำราพิไชยสงครามกล่าวถึง การเร่งรัดจากสัสดี แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่มีการแต่งตำราพิไชยสงครามนี้ได้มีการแบ่งหน่วยงานที่ควบคุมบัญชีทางด้านกำลังพลขึ้นมาเป็นหน่วยงานเอกเทศจากหน่วยงานของสมุหนายก สมุหกลาโหม หรือพระคลัง (วสันต์ มหากาญจนะ:2539:6) กรมสุรัสวดีนี้ แรกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมบัญชีรี้พลเป็นเอกเทศจากหน่วยงานของกรมหรือกองดังกล่าวขึ้น และอยู่ใต้การควบคุมของพระมหากษัตริย์ ต่อมามีกรมสุรัสวดีประจำกรมกองต่าง ๆ ขึ้น เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นจนเป็นสงคราม มีใบบอกจากเมืองที่อยู่ใกล้ดินแดนที่มีกรณีพิพาท ก็จะมีการประชุมลูกขุน ณ ศาลาลูกขุน ให้มีการเกณฑ์ผู้คนตามกรมกองหรือเกณฑ์หัวเมืองเอก โท ตรี ที่อยู่ใต้การควบคุมของกรมกองต่าง ๆ ในการประชุม ณ ศาลาลูกขุน เป็นขั้นตอนที่สำคัญขุนนางที่มีหน้าที่ก็ต้องมาประชุมกันโดยลูกขุนพร้อมเพรียง ถ้าขุนนางผู้ใดไม่มาก็จะมีโทษตามพระไอยการกบฎศึก “อนึ่งถ้าข้าศึกมีมาให้ท้าวพญาลูกขุนมุขมนตรีนั่งประชุม ณ ศาลากลาง ผู้ใดมิได้มาเป็นไทษกบฎ ให้ปรับตามโทษ” (ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1, เล่ม 1, 2539 : 466)
เมื่อได้ทำการเร่งรัดผู้คน มีการประชุมต่าง ๆ ศาลาลูกขุน ณ ศาลานี้เอง ก็จะมีการคัดเลือกผู้คนซึ่งจะเป็นผู้นำกองทัพออกไปทำสงคราม ซึ่งในขั้นตอนของการคัดเลือกแม่ทัพนั้นก็ต้องมีเรื่องของการใช้หลักของตำรามหาทักษาพยากรณ์ หรือการตั้งชื่อบุคคลตามวันเดือนปีต่าง ๆ โดยใช้เกณฑ์การคำนวณทางโหราศาสตร์ต่าง ๆ เข้าช่วย
ในเรื่องของการจัดกองทัพและกิจกรรมทางการทหารบางส่วนก็มีการกำหนดรูปแบบของการจัดกองทัพให้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า
เสือ หนู ช้าง ซึ่งก็เป็สัตว์ทางธรรมชาติที่มีชีวิตอยู่จริง ๆ
กับสัตว์อีกประเภทหนึ่งซึ่งปรากฎอยู่ในเทพปกรณัมต่าง ๆ
ทั้งนี้โดยอาศัยการสังเกตพฤติกรรมและสัญชาติญาณในการดำรงชีวิตมากำหนดเนื้อหารูปแบบของการจัดกองทัพต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น “ถ้าตั้งแนวป่าริมทาง, นามพยัคฆโดยปาง, เลียงปีปประเปรี้ยงเวียรวัน, (ปลัดเลย์ : 2418 : 6)
การตั้งชื่อการตั้งทัพเป็นรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องฤทธิ์อำนาจตั้งกันตามแนวป่าต้องเป็นแบบเสือด้วยสาเหตุที่เสือเป็นสัตว์ที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่ในแนวป่า
ถ้าตั้งทัพตามทางเดินนั้นก็คือสุนัขนามที่ให้ชื่อสุนัขนาม เพราะสุนัขมักนอนในบริเวณใกล้ ๆ กับที่พัก เช่น บ้านที่ต้องนอนบริเวณนั้นเพื่อระแวดระวังรักษาทรัพย์สินให้เจ้านาย
หรือตั้งทัพแบบอัชนาม ที่นี้ก็หมายถึงสัตว์พวกเก้ง กวาง ซึ่งชอบอาศัยหากินตามบริเวณท้องทุ่ง การตั้งทัพจึงเป็นแบบกระจายออกไปตามลักษณะนิสัยของสัตว์ประเภทนี้ซึ่งมีสัญชาติญาณในการระวังภัยสูงเป็นต้น
กลศึกนับว่าเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการทำสงครามเพื่อเอาชนะศัตรู ผู้ที่เป็นแม่ทัพจึงต้องเรียนรู้กลศึกทั้ง 21 ประการอย่างกระจ่างแจ้ง กลศึกในตำราพิไชยสงครามนั้นถ้าพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่ามีความเข้มข้นยากง่ายสุขุมล้ำลึกต่างกัน ซึ่งในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
2.1.1 ประเภททั่ว ๆ ไป เน้นเรื่องการเตรียมพร้อมของอาวุธ ไพร่พล อุปกรณ์ในการทำสงคราม เช่น กลศึกที่ชื่อว่าฤทธิ กลศึกดังกล่าวเน้นการเตรียมพร้อมในการศึกษายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการรบ เน้นในเรื่องความจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์หมั่นเข้าเฝ้าอย่างสม่ำเสมอ
2.1.2 กลศึกประเภทตัดกำลังซึ่งเป็นกลศึกที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง แตกต่างจากกลศึกประเภทที่ 1 ในเรื่องของการปะทะโดยตรง เช่น กลศึกที่ชื่อว่าลักษณะซ่อนเงื่อน กลศึกนี้เน้นการอำพรางตัวเพื่อเข้าโจมตีข้าศึก โดยหลอกล่อข้าศึกเข้ามายังบริเวณ ที่วางกำลังพล ซุ่มซ่อนตัวไว้ เมื่อศัตรูติดตามหรือหลงเข้ามา ก็เข้ากระหนาบตีทั้งสองด้านโดยรวดเร็วและพร้อมเพรียงกัน ศัตรูเมื่อมิได้ระแวงหรือระมัดระวังตัวก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ เพราะป้องกันตนเองไม่ทัน เป็นต้น
2.1.3 กลศึกประเภทหลอกล่อ หว่านล้อมให้เข้ามาเป็นพวก กลศึกนี้เน้นการชักจูงให้เข้ามาเป็นพวกเพื่อการหากำลังพลเพิ่มเติม ทั้งนี้คือเนื่องจากการทำสงครามในสมัยโบราณส่วนหนึ่งนั้นมีสาเหตุมาจากการต้องการกำลังคนเพื่อนำไปสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรของตนเอง ตัวอย่างของกลศึกประเภทนี้ได้แก่ พวนเรือนโยง กลศึกนี้เน้นในการใช้จิตวิทยาในการผูกมิตรกับศัตรูยอมเสียสละแม้กระทั่งลูกเมีย เพื่อให้ศัตรูตายใจยอมรับเข้ามาเป็นพวก ซึ่งจะเห็นประโยชน์อย่างมากเสมือนกับการคล้องช้างป่าที่อาศัยการหลอกล่อหรือการวางเรื่องราวที่ต้องรู้จักการวางเหยื่อด้วย ต้องใช้กลอุบายที่แยบคายจึงจะได้รับชัยชนะ
2.2 ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติกับการทำสงคราม ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ในที่นี้เป็นการนิยมการเรียกเรื่องราวเนื้อหาในตำราพิ ไชยสงครามไทยที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ เคล็ดลาง นิมิต ต่าง ๆ ให้มาอยู่ในหมวดเดียวกัน
เนื้อหาในเรื่องเหนือธรรมชาติปรากฎอยู่ในตำราพิไชยสงคราม เกือบทุกฉบับ โดยมีทั้งปนกันอยู่ในเนื้อหา เช่น การคัดเลือกแม่ทัพซึ่งต้องใช้ความรู้ด้านมหาทักษาพยากรณ์ หรือ ที่แทรกอยู่ตามเนื้อหาต่าง ๆ
ในกรณีเช่นนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้อธิบายไว้แต่เพียงว่า คงมีมาแล้วแต่โบราณ (ราชบัณฑิตยสถาน 2473:คำนำ) อย่างไรก็ตามความเชื่อดังกล่าวนี้ได้มีอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ของสังคมไทยในสมัยโบราณ ไม่น้อยไปกว่าความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเท่าใดนัก ความเชื่อเหล่านี้ได้แฝงตัวอยู่ในรูปของลัทธิธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งสะท้อนค่านิยมที่สำคัญต่าง ๆ ของสังคมออกมาในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมาให้พิจารณาเป็นตัวอย่าง 3 เรื่องด้วยกัน
2.2.1 คัมภีร์ดูเมฆ เป็นคัมภีร์ที่ใช้ในการดูเมฆบนท้องฟ้า ดูความเคลื่อนไหว ของหมู่เมฆ ซึ่งลมพัดไปในทิศทางต่าง ๆ และดูว่าเมฆนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร อาทิเช่น หากกลุ่มเมฆลอยมาจากทิศเหนือ มาทิศใต้แล้วบดบังดวงอาทิตย์จนไม่มีแสงมืดมัวไปหมดท่านห้ามเคลื่อนทัพจะพ่ายแพ้ต่อข้าศึก ถ้ากลุ่มเมฆนั้นเคลื่อนมาตามทิศเหนือแล้วถอยคืนไปไม่บดบังดวงอาทิตย์ ให้ลั่นฆ้องดำเนินธงจะมีชัยชนะในการรบ (วสันต์ มหากาญจนะ : 2539 : 111) รูปร่างหรือลักษณะของก้อนเมฆก็มีความสำคัญ นิมิตรูปของเมฆที่ดีคือรูปอันสวยงามแจ่มใสธวัชฉัตร ธง ถ้าเป็นรูปเมรุสัญลักษณ์แห่งความตาย ท่านว่าห้ามเคลื่อนทัพ เคลื่อมจากแหล่งที่อยู่จะมีอันตรายย่อยยับ (“พลูหลวง”,2539 : 190)
2.2.2 นิมิต ซึ่งในที่นี้มีความหมาย เค้ามูล, ลาง, เหตุ, ความเชื่อในเรื่องนิมิตนี้มีมาเป็นเวลานานแล้วจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าจะปรากฎอยู่ในเนื้อหาของตำราพิไชยสงครามด้วย นิมิตนี้มีสามารถแบ่งออกได้เป็นนิมิตทั่ง ๆ ไปหรือในยามปรกติ ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปในยุคนั้นต่างก็มีความรู้ ความคุ้นเคยอยู่บ้างกับนิมิตในยามสงครามซึ่งเป็นเรื่องแยกเฉพาะออกไป แต่ก็เป็นที่รับรู้ของสามัญชนเช่นกัน นิมิตที่สังเกตจากอากัปกิริยาของสัตว์ ดวงดาว สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติจัดอยู่ในนิมิตประเภทแรกคือ นิมิตในยามปรกติ เช่น นิมิตอันเกิดจากดวงดาวคือความสว่างเรืองรองของหมู่ดาว กลุ่มดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้าโดยเฉพาะทางไทยนั้น ถือหมู่ดาวจรเข้ หรือดาวหมีใหญ่เป็นที่สังเกต
ในเรื่องนิมิตนี้ผู้ศึกษาได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์คุณชาย ม.ร.ว. ศุภวัฒน์ ซึ่งท่านได้ให้ ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทัพ การทำสงครามในจดหมายเหตุการเดินทัพ สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเนื้อความเกือบทั้งหมดแสดงให้เห็นคุณลักษณะสำคัญของความเชื่อถือในเรื่องเหนือธรรมชาติกับการทำสงครามว่า แม้รัชกาลที่ 1 จะทรงประกาศเกี่ยวกับการให้ไหว้พระพุทธรูปก่อนเทพยดาทั้งหลาย ซึ่งคนทั่วไปคิดว่าเป็นการปฏิวัติความเชื่อความศรัทธาของประชาชน แต่ในการทำสงครามดังกล่าวอาจจะถือว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะมีหลายตอนที่อ้างถึงการแทงพระบท ตำราแทงพระบท (พระบทเป็นการเสี่ยงทายชนิดหนึ่ง มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระศาสนา หรือ วรรณคดี มีเรื่องร้าย หรือดี อย่างใด) ในเอกสารชุดนี้ยังมีเรื่องราวของเคล็ดลาง นิมิตต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
2.2.3 ตำราสุบินศาสตร์ หรือที่เรียกกันโดยทั่ว ๆ ไปว่า ตำราทำนายฝัน ความฝันนั้นคือ การมองเห็นภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในขณะหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงเก็บเอาความฝันเหล่านี้มาเล่าและทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ต่อมาจึงได้มีการรวบรวมเป็นตำราขึ้น ตำราเหล่านี้มีมากมายและเป็นที่เชื่อถือกันอย่างมาก ตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังมีผู้ที่เชื่อถืออยู่ไม่น้อย เข้าใจว่าผู้ที่แต่งตำราพิไชยสงครามคงได้ใส่ตำราดังกล่าวลงไปเพื่อที่จะให้เป็นที่ประดับสติปัญญาของแม่ทัพ ผู้เป็นขุนพลต่าง ๆ เพราะนอกจากใช้ในระหว่างการเดินทางไปทำสงครามก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการทำนายฝัน แก้ฝันในครอบครัวของตนเองได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าฝันว่าถูกจองจำก็ยังเป็นเรื่องดีจะได้ลาภยศ (วสันต์ มหากาญจนะ 2539 : 121) ถ้าฝันว่าฟันหักกระเด็น ก็เป็นลางร้ายว่าจะต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดเสียชีวิต ความรู้เนื้อหาในเรื่องความเชื่อเหนือธรรมชาติยังมีอีกมากมายในตำราพิไชยสงคราม เช่น เรื่องมหาทักษาพยากรณ์ ตำราสวัสดิ์รักษา สวัสดิมงคล สกณฤกษ์ หรือ สกุณนิมิต พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม ไม่จำเพาะในตำราพิไชยสงครามของไทยเท่านั้นที่มีเรื่องความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติปรากฎอยู่ ในตำราพิไชยสงครามของเพื่อนบ้านข้างเคียงก็ได้ปรากฎความเชื่อในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน เช่น ตำราพิไชยสงครามพม่าของพม่า (ใช้หนังสือ วารสารประวัติศาสตร์)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ความสำคัญของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมิได้อยู่ว่าถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงหรือไม่ แต่จากเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในเอกสารต่าง ๆ ก็ยืนยันถึงความเป็นได้ว่าครั้งหนึ่งน่าจะมีการใช้กันอย่างจริงจังโดยเฉพาะในราชสำนักซึ่งมีหน่วยงานที่มีชื่อเรียกว่ากรมโหรมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องเหล่านี้และส่วนหนึ่งก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติเหล่านี้ก็ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันแม้จะไม่ได้มีความสำคัญอย่างเข้มข้นเท่ากับในอดีตกาล
(ข้อมูลจาก ขุนนางอยุธยา , Ibid )
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment