Jan 31, 2012

ความสามารถพิเศษของแม่ทัพ ในตำราพิชัยสงคราม



    มีคำถามมากมาย ว่า"ประเทศไทยเราไม่ีทฤษฎีด้านความเป็นผู้นำอยู่หรือ ถึงต้องไปเรียนหรือลอกแนวคิดฝรั่งเสียเกือบจะทุกเรื่อง"
    นี่คือคำถามที่อยู่ในใจผู้เขียนมาตลอด ตั้งแต่อ่านเรื่่อง ความเป็นผู้นำ และศึกษาเกี่ยวกับด้านนี้มาโดยตลอดเมื่อมีเวลา หรือ ต้องทำหน้าที่วิทยากรบรรยายเรื่อง "ความเป็นผู้นำ (Leadership)"

     จนกระทั่งได้มาอ่านตำราพิไชยสงคราม หลาย ๆ ฉบับ ทั้งที่เป็นเล่มสมุดไทย  เล่มฉบับหลวงพิไชยเสนา  ฉบับรัชกาลที่ 1  หรือ เล่มที่กำลังแปลความอยู่คือ ตำราพิไชยสงคราฉบับเมืองเพชรบูรณ์
      คำว่าแม่ทัพ (Commander-in-Chief)  ขุนศึก (Warlord)  หรือ แม่ทัพนายกอง ดูจะเป็นคำที่เราคุ้นเคยหาก ได้อ่านเรื่องราว ประวัติศาสตร์หรือ การทำสงครามในสมัยโบราณของไทย

     ความสามารถพิเศษของแม่ทัพ และขุนศึก หรือ นายกอง ภาษาอังกฤษ คือ   The Competencies of Ancient Thai  Commander-in- Chief and Warlord มีปรากฎไว้หรือไม่
    คำตอบคือ มีครับ ระบุไว้อย่างชัดเจน หลายที่ด้วยกัน แต่จะขอยกมาให้เห็นใน 5 ความสามารถพิเศษดังนี้.....ความในตำราพิไชยสงคราม ว่าไว้
     ...ผู้ที่จะเป็นแม่ทัำพ ให้รู้คดี 5 ประการ
        1) คิดกลให้อุบาย  เห็นผู้ใดจะได้จึงให้ไปทำ
             ถ้าจะฝึกสอนทหารให้มีสง่า ข้าศึกจึงจะมีที่เกรงกลัว แล้วให้ตั้งตัวมีอำนาจดั่งราชสีห์
        2) น้ำใจโอบอ้อมแก่ทแกล้วทหารให้เสมอกัน
            ถ้าผู้ใดทำผิดให้ทำตามผิด อย่าถือโกรธผู้น้อย
        3) ให้พิจารณาตรองความแล้วจึงสั่ง
            ดั่งงาช้างมีแต่จะยาว จงรักษาความสัตย์ ทำการสิ่งใดให้แน่นอนอย่าเจรจาเป็นคำสอง
        4) ศึกยกมารู้ว่าแม่ทัพเคยชำนะเพราะกำลังพลมาก ฝ่ายผู้จะแก้ทัพรับมิได้เพราะมีพลน้อย   อย่าถือตัวองอาจออกรบเมื่อกำลังกล้า จงหาที่มั่นให้ได้ก่อนจึงต่อสู้ แล้วตรองอุบายหมายชำนะจึงทำ
        5)ถ้าตัวแม่ทัพถึงไปตีเมืองใดมีรี้พลมาก อย่าคิดกำเริบทรยศต่อเจ้านายของตัว
     ผู้ใดรักษาคดีห้าประการนี้ได้ถูกถ้วน ก็ควรจะเป็นแม่ทัพได้
     

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com


   
             

 

     
 

Jan 27, 2012

8 ชัยภูมิพยุหะ ตามตำราพิไชยสงคราม


             หลายท่านที่สนใจในตำราพิไชยสงคราม คงได้ศึกษาหาความรู้จากหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ  ขณะที่บางท่านอาจมีโอกาสได้ศึกษาจาก เอกสารโบราณที่เป็น ฉบับสุดไทยดำ-ไทยขาว (ผู้เขียนแนะนำให้ลองหาโอกาสศึกษา เพื่อได้สัมผัสจริง ๆ ถึง มรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย)
             ในลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  รัตนกวีเอกแห่งราชวงค์จักรี ซึ่งไม่มีกวีใดในปัจจุบันเทียบเทียมได้
             ตามโคลงที่  29  ที่พระเจ้านันทบุเรงให้โอวาทและอวยชัยแก่พระราชบุตร มหาอุปราชที่จะยกทัพไปปราบ กรุงศรีอยุธยาซึ่งประกาศไม่เป็นเมืองขึ้นแก่หงสาวดี  ส่วนหนึ่งดังนี้
                   
               หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้                       สบสถาน
       เจนจิตวิทยาการ                                  กาจแกล้ว
       รู้เชิงพิชัยชาญ                                     ชุมค่าย    ควรนา
       อาจจักรอนรณแผ้ว                              แผกแพ้พังหนี
(วัดพระเชตุพน , 2528: 8  หนังสือ ลิลิตตะเลงพ่ายและพระเกียรติบางประการ )

      ซึ่งตีความกันว่า ชัยภูมิพยุหะ นั้นมี 8 นาม  เมื่อได้ครวจสอบและเทียบกับตำราพิไชยสงครามฉบับ  หลวงพิไชยเสนา  ฉบับรัชกาลที่ 1 และอีกหลาย ๆ ฉบับ แน่ชัดว่าเป็นนามตามนั้น  ขณะที่ในตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มกระบวนพยุหะ มีแผนภาพ ชัยภูมิพยุหะ ทั้ง 8 นามสัตว์คือ  ครุฑนาม  พยัคฆนาม สีหนาม  สุนัขนาม นาคนาม มุสิกนาม  อัชนาม และคชนาม พร้อมกับ กำหนดไว้ตามมหาทักษาพยากรณ์ ด้วย (ตามดวงดาว )   ดังแผนภาพที่นำมาแสดงไว้
   
       ข้อความในตำราพิไชยสงคราม  มีดังนี้  
               



 ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com


Jan 18, 2012

กระบวนพยุหยาตรา ที่วัดประดู่ทรงธรรม


                                    (ภาพกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วัดประดู่ทรงธรรม :  นำมาจาก อนัญญา โพธิ์ประดิษฐ์  http://ananya-ananya-toon.blogspot.com/ )

                หากพูดถึง "กระบวนพยุหยาตรา" โดยเฉพาะทางสถลมารค  ที่สามารถศึกษา รูปแบบว่าในโบราณราชประเพณีมีมาอย่างไร ต้นฉบับที่เป็นสมุดไทยขาว สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น  เป็น "สมุดภาพจำลองมาจากวัดยมกรุงเก่า"     (สมุดข่อยวัดยม ค้ดลอกในปี  พ.ศ. 2440 )  ซึ่งคัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดยม จ.พระนครศรีอยุธยา  (วัดยมตามหลักฐาน สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ปี พ.ศ. 2424
 

                และอีกแห่งที่กล่าวถึงกันากคือ วัดประดู่ทรงธรรม  หลักฐานที่ปรากฎนั้นบอกว่าวัดนี้สร้างในปี พ.ศ 2200 จิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค  น่าจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นมาก่อนจิตรกรรมวัดยม ด้วยหลักฐานของปี พ.ศ. ในการสร้างวัด ห่างกันพอสมควร และด้านข้างพระอุโบสถ ยังมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าทรงธรรม



                 เมื่อ วันเสาร์ที่ผ่านมา ในเดือน ม.ค. 55 ผู้เขียน กลับไปที่วัดประดูทรงธรรม อีกครั้ง  ด้วยความห่วงใยว่า จิตรกรรมล้ำค่าที่วัดนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะน้ำท่วมอย่างหนัก อยูธยาจมน้ำเป็นเดือน
               ... พระท่านเล่าว่า  หน้าวัด ประมาณ 3-4 เมตร ในวัดก็ท่วมเข้ามาในโบสถ์ แต่แค่ บัว ก็คืบกว่า ๆ    (คนโบราณ)
                  ส่วนจิตรกรรมฝาผนังไม่เสียหายจากน้ำท่วม แต่เลือนหายไปเพราะ กาลเวลา ฝนตก ชะให้เลือน หลังคาโบสถ์รั่ว .........

                 กลับมาที่กระบวนพยุหยาตรา ที่ฝาผนังทั้ง 2 ด้าน นั้น ภาพเขียนในลักษณะที่ เหล่ามัลลกษัตริย์ กรีฑาทัพ ด้วยจตุรงคโยธาหาญครบถ้วนด้วยศัตราวุธเต็มกระบวนศึก เพื่อมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า

               จตุรงคเสนา นั้น มีพล 4 เหล่าคือ พลรบ  พลช้าง พลม้าและ พลรถ แต่เนื่องด้วยตามหลักฐานการรบของไทย จะด้วยภูมิประเทศ หรือ เหตุผลอันใด ยากที่จะรู้  กองทัพไทยแต่โบราณไม่มีพลรถ (แม้ว่าในตำราพิไชยสงครามจะพูดถึงก็ตาม)
               ในคัมภีร์เสนางคพยุหะ  กล่าวว่า  จักรพยุหะ ปทุมพยุหะ  หะระตะพยุหะ และ สักตะพยุหะ  ทั้ง 4 พยุหะ นี้มีในพระพุทธิฎีกาสมเด็จพระพุทธเจ้า  ผู้เขียนอ่านพบใน ตำราพิไชยสงครามของพม่า ที่ รัชกาลที่1 มีดำรัสสั่งให้แปล   เมื่อจุลศักราช 1160 (พ.ศ.2341) ว่าด้วยวิธีตั้งทัพ ดำเนินพล จนถึง ว่าด้วยที่ชัยภูมิ 4 ประการ

              แต่ที่วัดประดู่ทรงธรรม คงไม่เห็นกระบวนพยุหะ ที่เต็มกระบวนทัพแบบสงคราม  ภาพที่เราเห็นได้คือ พลรบ  พลช้าง และ ม้าแซง   อาจจะเป็นด้วย พระพุทธประวัติและ การรบของฮินดูโบราณนั้น ให้ความสำคัญกับ พลรบ พลช้าง และพลรถ มากกว่าพลม้า เพราะอินเดีย ไม่มีพันธุ์ม้าที่ดีเช่น ยุโรป และจีน  พลม้าจึงไม่ได้อยู่ในแนวหน้าของการทำสงครามของอินเดีย หรือ ฮินดูโบราณ แต่ พลช้างจะเป็น หน่วยรบแนวหน้าที่สำคัญ
           
              ดร.ดนัย เทียนพุฒ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  email: drdanait@gmail.com

Jan 10, 2012

ถอดรหัส "ตำราพิชัยสงคราม" ฉบับเมืองเพชรบูรณ์


          นับตั้งแต่ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อ ธ.ค.51  นับเวลาได้ ประมาณ 3 ปี ผู้เขียนได้มีเวลาศึกษาอย่างจริงจัง และการไปสืบค้นที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
          ยิ่งเป็นที่น่ายินดีและรู้สึกถึงคุณค่า และ ความสำคัญของเอกสารโบราณทางทหาร ชิ้นนี้เพราะ สามารถศึกษาทำความเข้าใจได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

          อาจเป็นเพราะเงื่อนเวลา และ ลิขิตของ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจน สิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่ต้องการให้สามารถไขรหัสได้ เพื่อให้ อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาส ศึกษาและทำความเข้าใจ จะได้สืบต่อเอกสารโบราณชิ้นสำคัญทางด้าน พิไชยสงครามของบรรพบุรุษและประเทศชาติ
        ความน่าอัศจรรย์ใจได้บังเกิดขึ้น
        ....เมื่อผู้เขียนได้ ถอดความ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มคำกลอน เสร็จ เพราะมีเอกสารหลายฉบับที่สามารถใช้เทียบเคียงได้ ในการถอดมาเป็นภาษาปัจจุบัน (แม้จะไม่ได้ทั้งหมดของความรู้ก็ตาม แต่ก็เกือบสมบูรณ์)
        ....ในระหว่างนั้นก็มานั่งคิดว่า   ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์  เล่มแผนภาพ จะสามารถถอดความให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุด  คงต้องไปที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ
           และก็จะเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้ จับต้องและศึกษาในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใครจะทำก็ได้
          -ภาษาในตำราพิไชยสงครามเป็น ภาษาเก่า ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น    จะทำความเข้าใจได้หรือไม่
          -แล้วจะหยิบเล่มที่เท่าไหร่  เล่มไหนมาศึกษากันดีเล่า


      ..ผู้เขียนได้ทำเรื่่องขออนุญาต เพื่อเข้าศึกษาตำราพิไชยสงคราม โดยไม่ได้คิดว่าต้องการอะไร ในขณะนั้น เพียงอยากได้ถึง ความรู้สึก การจับต้องเอกสารโบราณ เพราะหากเขียนถึงแต่ แค่มีโอกาสเห็นในที่ต่าง ๆ มาก่อน หรือศึกษาจากตำราที่พิมพ์ใหม่  จะสัมผัสต้องถึงความเป็นโบราณ และคุณค่าทางจิตใจได้อย่างไรเล่า   และแม้ไม่เจออะไรเลยก็ได้มีโอกสารสัมผัสสมุดไทยโบราณ ถือเป็นความอิ่มอกอิ่มใจแล้ว    ผู้เขียนจึงเลือกมา ทั้งหมด 15 ฉบับ (ล้วนแต่ฉบับที่ยังไม่เคยเห็น) จากเอกสารโบราณทั้งหมด  217 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อ หมู่ยุทธศาสตร์ ปี 2546

         -สิ่งที่ปรากฎ คือ ใน 15 เล่มสมุดไทย ที่เลือกมานั้นไม่ทราบว่าในตัวเล่มเป็นอย่างไร แต่ได้แค่ เดา ๆ จาก บัญชีรายชื่อ เท่านั้น
           ในวันแรกที่ไปศึกษา   ผู้เขียนได้ตั้งจิตอธิฐาน ว่า ขออนุญาตศึกษา ทำความเข้าใจเพื่อจะได้ นำองค์ความรู้ในเรื่องนี้ และหากกระทำได้ขอให้ เข้าใจรหัสแห่งปริศนาของตำราพิไชยสงคราม เพื่อรุ่นลูกหลาน จะได้มีโอกาสเรียนรู้และ ได้ย้อนนึกถึงสิ่งที่ พระมหากษัตริย์ แม่ทัพนายกองได้ อุตส่าห์ เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิต จนกระทั้งเป็นอักษร ในสมุดตำราพิไชยสงครามปรากฏตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน
       
            เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้หยิบตำราพิไชยสงครามจากห้องเก็บเอกสาร ให้มา 5 เล่มสมุดไทย บอกว่า ศึกษาได้ครั้งละ 5 เล่ม
            ใน 5 เล่มดังกล่าว  หลังจากที่เปิดอ่าน เล่มแรก เป็นเล่มที่ 5 (ระบุไว้) ของตำราพิไชยสงครามคำกลอน  ซึ่งได้เคยมีโอกาสอ่านมาก่อนหน้านี้  ผู้เขียนมีความรู้สึกแปลกประหลาดใจ คือ ทำไมจึงอ่านได้ คล่องนัก ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในภาษาโบราณมาก่อน จะมีที่ติดอยู่บ้างเนื่องจากหาวิธีอ่านไม่ได้  แต่พอกลับไปบ้าน(พร้อมได้อ่านเล่มอื่น ๆ ที่เป็นเอกสารในยุคเดียวกัน)  และมาต่อในวันรุ่งขึ้นกลับอ่านและตีความได้
          พอเปิดอ่านในฉบับถัดมา  รู้สึกว่าอัศจรรย์ใจมาก ครับ ช่างเหมือน กับ เล่มกระบวนพยุหะ หรือ แผนภาพ ใช่แน่เลย   ผู้เขียนมั่นใจมาก ๆ ว่า น่าจะตรงกันเลยทีเดียว  เสียดายแต่ว่าไม่ได้ติดเอาฉบับกระบวนพยุหะมาด้วย   ต้องเอามาเทียบในวันพรุ่งนี้อีกที  วันนั้นดีใจมากครับ
          เป็นอันว่า ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ ทั้ง 2 เล่มสมุดไทยนี้ ถอดรหัสได้อย่างแน่นอน

         พอวันที่ สอง นำเอกสารมาเปรียบเทียบก็ตรงหมดทั้งเล่มกระบวนพยุหะ อย่างแบบหน้าต่อหน้าครับ ยังมีหน้าอื่นที่ แตกต่างออกไป ซึ่งฉบับเมืองเพชรบูรณ์ไม่ปรากฎ ขณะที่ตัวอักษรข้อความชัดเจน กว่า ฉบับเพชรบูรณ์ เสียอีก  ก็ได้ทำการคัดลอกเลยทั้งวัน

         หลังจากนั้น ได้ค้นคว้าเอกสาร เกี่ยวกับกระบวนพยุหะยาตรา  เลยขอดูที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติอีก 1เล่ม (เดิมขอไว้ 14 เล่ม)   ปรากฎว่า เล่มใหม่นี้ เป็นฉบับกระบวนพยุหะ ที่เหมือนกับเล่มก่อน (ไม่ระบุว่าเขียนขึ้นเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นรัตนโกสินทร์ตอนต้น)  เล่มนี้เป็นฉบับที่ ยกใหม่ ในรัชกาลที่ 2 เล่มที่ 1 (ระบุไว้อย่างชัดเจน)  เป็นตัวอักษรทอง  แต่ส่วนใหญ่เป็นหน้าเปล่า ยกเว้นหน้าต้น  ๆ  ที่บันทึกข้อความไว้  ทำให้นึกได้ทันทีว่า  ที่เป็นหน้าว่างเปล่า นี้คงจะเหมือน "Vyuha Workbook" หรือ ที่เป็นแบบชาวบ้านเรียก ฉบับกลางแปลง ให้ สามารถนำติดตัวแม่ทัพ ไปใช้ในสงครามจริงและเขียนบันทึกระหว่างการทำสงครามได้
        เพียงเท่านี้ ก็ตอบคำถาม และหลาย ๆ อย่างที่ชอบถามกันจากผู้ที่สนใจในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ได้ มากกว่าที่เคยมีมาก่อน
        ความอัศจรรย์ คือ ผู้เขียนเลือกฉบับ ที่ตรงมาได้อย่างไร จาก 217 เล่ม ที่มีแค่รายชื่อ และ เจ้าหน้าที่ ก็หยิบมาให้ตั้งแต่ในวันแรก  และได้พบในฉบับอื่น ๆ อีก ผู้เขียนใช้เวลา ศึกษาและคัดลอกอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ รวมเวลาแล้ว เพียง 7 วันทำการเท่านั้นครับ   ทำก่อนนั้นก็ไม่ได้   (เพราะ สำนักหอสมุดปิดกลุ่มงานตัวเขียนและอักษรจารึก เพื่อการย้ายไปตึกใหม่ อยู่ ประมาณ ก.ย.54 จนเปิดบริการใหม่ใน เดือน พ.ย.54  )      

      ถือเป็นความโชคดี และ ตรงกับเงื่อนเวลาที่ ลิขิตให้ สามารถ ทำความรู้ความเข้าใจได้ และคงไม่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แน่ น่าอัศจรรย์ใจเป็นยิ่งนัก


ดร.ดนัย เทียนพุฒ

ผู้อำนวยการ
 โทร 029301133


         
   

Jan 3, 2012

หนุนตำราพิชัยฯเพชรบูรณ์ ช่วยแตก"องค์ความรู้" เพียบ


           ตามข่าว ใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 3 ม.ค.55 หน้า 8 ได้นำเสนอความคืบหน้าของการศึกษา "ตำราพิชัยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์ " โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ ซึ่งพบว่ามีอะไรที่ยังไม่เคยพบมาก่อนในหลาย ๆ อย่าง และยังพบรหัสที่สามารถทำให้เข้าใจ  กลศึก 21 กลศึก พร้อมทั้งกระบวนพยุหะ (ฉบับแผนภาพ) ได้มากกว่าที่เคยทำการศึกษากันมา (จะได้นำเสนอติดตามต่อในภายหลัง)





ดร.ดนัย เทียนพุฒ
ผู้อำนวยการ
โทร 029301133