ข้อความทั้งหมดมาจากคำนำ ใน บทที ๑ เรียนรู้สรรพวิชายุทธศาสตร์เติมเต็มประวัติศาสตร์ และ เป็นคำโปรย ในปกหลังของหนังสือ ตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์
นับตั้งแต่ที่มีการมอบหนังสือสมุดไทยที่เป็นเอกสารโบราณ เกี่ยวกับตำราพิไชยสงคราม โดยคุณมาวิณห์ พรหมบุญ ที่เป็นข่าว เมื่อ 11 ธ.ค.51 ให้กับหอประวัติศาสตร์เพชรบูรณ์
ผู้เขียนจำได้ว่า ได้เขียนบทวิเคราะห์และให้ความเห็น ในตำราพิไชยสงครามนี้แตกต่างไปจาก ผู้รู้ท่านอื่น ๆ และทำให้ได้มีโอกาส พูดคุยกับคุณสุนทร คงวราคม ผู้สือข่าวท้องถิ่น นสพ.มติชน จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นที่มาของการได้เอกสารภาพสมุดไทยโบราณ ทั้งหมดมาใช้วิเคราะห์และอธิบาย ตลอดจนการทำข่าวและติดตามพูดคุยถึงความคืบหน้าในการศึกษาและเป็นผู้แนะนำให้ "วารสารศิลปวัฒนธรรมเพชบุระ" ติดต่อขอบทความจากผู้เขียน
และ จนกระทั่งได้รับเชิญจาก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.เพชรบูรณ์
ให้เขียนบทความเกี่ยวกับตำราพิไชยสงคราม เมืองเพชรบูรณ์ หลังจากนั้นได้พูดคุยกันพอสมควร โดยทาง ผอ. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม บอกว่า มีความประสงค์และสนับสนุนให้ผู้เขียน ศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียง มรดกโบราณอันทรงคุณค่านี้ให้กับทาง จ.เพชรบูรณ์ และประเทศชาติ
ด้วยความสนใจและศึกษาด้านการจัดการกลยุทธ ผู้เขียนตกลงที่จะทำการศึกษาและเขียนหนังสือเล่มนี้ ในปีน้ำท่วม (ปี 54) จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์และกว่าจะได้จัดพิพม์เป็นเล่มได้อย่างลงตัวก็ลุล่วงมาจนกระทั่ง มกราคม 2556 โดยจัดพิมพ์ ออกมาเป็นรูปเล่มที่โดดใจผู้เขียนมาก ทั้งขนาดและภาพประกอบ การจัดวางดีไซน์
หนังสือเล่มนี้ เริ่มด้วย
บทนำ บังอบายเบิกฟ้า: เปิดภูมิปัญญายุทธศาสตร์ไทย
".....ตำราพิไชยสงคราม ถือเป็นตำราที่สำคัญของพระมหากษัตริย์และแม่ทัพนายกองที่ต้องศึกษาร่ำเรียน เมื่อถึงคราวบ้านเมืองมีอริราชศัตรูยกทัพมารุกราน หรือตีชิงบ้านชิงเมืองยามนั้น "หัวศึก" คือ แม่ทัพหรือพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นจอมทัพ ย่อมต้องคิดกลศึกไว้ต่อตีกับข้าศึก ตำราพิไชยสงครามแต่ละเล่มสมุดไทยอาจจะแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษไทยในการทำสงครามกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนกระทั่งตกทอดมาถึงอนุชนรุ่นเราในปัจจุบัน...."
บทที่ ๑ เรียนรู้สรรพวิชายุทธศาสตร์เติมเต็มประวัติศาสตร์
-พิไชยสงครามภิวัฒน์
-สรรพวิชายุทธศาสตร์
"....ตำราพิไชยสงครามเป็นเอกสารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คู่บ้าน คู่เมืองมาแต่ครั้งสมัยโบราณ และยังมีภูมิปัญญาที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าปรากฎอยู่ด้วยกันในเรื่องว่าด้วย สาเหตุแห่งสงคราม กลศึกหรืออุบายแห่งการสงคราม การยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของกองทัพ แล้วยังมีเรื่องราวความเชื่อเหนือธรรมชาติ เช่น โหราศาสตร์สงคราม มหาทักษาพยากรณ์ การคัดเลือกแต่งตั้งแม่ทัพนายกอง โลกวัตรธรรมวัตรของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง...."
บทที่ ๒ ตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์
"..เนื้อหาในบทนี้ประกอบด้วย ตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์: ภาพรวมของตำรา การอุบัติขึ้นของตำราพิไชยสงครามฯ(รูปแบบของการครอบครองตำราพิไชยสงคราม การสืบทอดตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์) ตำราพิไชยสงครามฯเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ สิ่งที่พบใหม่ในตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูนณ์ คุณค่าและความใสำคัญของตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์..."
บทที่ ๓ ถอดรหัสตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มคำกลอน
"..ผู้เขียนได้ทำการถอดความตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มคำกลอน โดยเทียบเคียงกับตำราพิไชยสงคราม ๓ ฉบับ โดยปรับให้มีความถูกต้องตรงตามฉบับหลวงพิไชยเสนา และได้ทำตารางเปรียบเทียบความสอดคล้องของตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ กับตำราพิไชยสงครามฉบับหลวงพิไชยเสนา และฉบับรัชกาลที่ ๑..."
บทที่ ๔ ถอดรหัสตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มกระบวนพยุหะ
"... ตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ เล่มกระบวนพยุหะ (แผนภาพ) เอกสารโบราณชิ้นนี้เป็นสมุดไทยดำ ตัวอักษรสีทอง และบางส่วนสีขาว แผนภาพเส้นสีขาว รูปภาพสีหรดาล และสีน้ำยา และผู้เขียนได้ทำการถอดความโดยเทียบกับตำราพิไชยสงคราม ๓ เล่ม คือ ตำราพิไชยสงครามฉบับรัชกาลที่ ๒ เล่มที่ ๑ ชื่อสมุดแผนทีพิไชยสงครามยกใหม่ ว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพ ตำราพิไชยสงครามเลขที่ ๑๙ ว่าด้วยวิธีตั้งค่าย สมุดพิไชยสงครามกระบวนพยุหะของ ศ.สุกิจ นิมมานเหมินท์..."
บทที่ ๕ สะพานเชื่อมความรู้จากอดีตสู่ปัจจุบัน
"...หนังสือตำราพิไชยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ มีหลายสิ่งหลายอย่าง เพิ่งปรากฎการค้นพบและสร้างให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านยุทธศาสตร์ไทย และหากปรับบางสิ่งโดยใช้หลักวิชายุทธศาสตร์ ในเรื่องการประเมินทัศนภาพ การวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง จะพบว่า สามารถปรับประยุกต์ใช้กับบริบทในปัจจุบันได้หลายองค์ความรู้ทีเดียว..."
หมายเหตุ:
ท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ ติดต่อ
โดยตรงที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.เพชรบูรณ์
โทร ๐๕๖๗๑๗๑๔๐
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
ผู้อำนวยการโครงการ Human Capital
ผู้อำนวยการโครงการ Human Capital
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
No comments:
Post a Comment