Aug 27, 2014

ตำราพิไชยสงคราม ..จากสุราษฎร์ธานี



         ตามภาพข้างล่างมี เจ้าของตำราพิไชยสงคราม ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้ส่งข้อความถึงผมให้ขอช่วยดูตำราพิไชยสงคราม ว่า จริงหรือไม่ประการใด   ผมได้ขอให้ส่งภาพ ของตำราพิไชยสงครามมาให้ผมดูในรายละเอียด

       ผมบอกไปว่า   น่าสนใจดีครับ ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าของเองเลยไหมครับ และขอถามหน่อยครับ
 ว่าอยู่ที่ไหนครับ อาชีพอะไร (จะเป็นประโยชน์มาก)
 1. มีเล่มเดียวหรือไม่ครับ  และ แหล่งที่ได้มาคือ จังหวัดใด หรือ  แถบไหนของประเทศไทย
    เจ้าของเดิม เป็นคนทั่วไป หรือ ตระกูลเก่า ของจังหวัด หรือ ข้าราชการเช่น
    เจ้าเมือง  หรือ เจ้าอาวาสวัดสำคัญแห่งใด ไหมครับ

 2. เท่าที่ดูจากภาพ ตำราเล่มนี้  สภาพ เก่ามาก ครับ  เวลาหยิบเปิด
 ให้ใส่ถุงมือยางนะครับ  พยายามเปิดโดยพลิก จาก 2 มุมซ้ายขวานะครับ
 อย่าจับตรงกลางเล่มสมุดไทย จะทำให้ยิ่งชำรุด

 3. ถ้าเป็นเจ้าของเอง คุณอดิศักดิ์  โชคดีมาก เพราะ ตำราลักษณะนี้ ไม่ค่อยพบ
  มักจะเรียกกันว่า  เล่มกระบวนพยุหะ ครับ
4. ยังบอกอะไรไม่ได้มากครับ
   1) จาก หน้าแรก ของตำรา (สมุดไทย)  ช่วยถ่ายรูป แบบ 1คู่ ( 2หน้า )
 ความละเอียดสูงมาก ๆ จนถึงหน้าแรก ที่มีตัวหนังสือเขียนครับ
   2) หน้าสุดท้าย ที่เปิดไปก่อนพลิกกลับด้าน  เป็นภาพอะไรครับ (ภาพคู่ 2หน้า)
 พอพลิกกลับด้าน เริ่มภาพคู่แรกอะไรครับ
  3) หลังจากพลิกไปแล้ว เปิด ไปจนจบเล่ม  จากตัวหนังสือ จนถึงหน้าเปล่า  มีรูป
 หรือ ตัวอักษรอะไรไหมครับ
  4) ภาพที่ส่งมาโดยเฉพาะ ตัวอักษรสีขาวมีทางถ่ายให้ชัดมากขึ้นได้ไหมครับ
 (ความละเอียดสูงมาก ๆ)
  5) มีภาพหน้า แรก ๆ  5.1 เป็นรูปป่า ช้าง 2-3 เชือก และภูเขาแม่น้ำ     กับ
 5.2  เป็นรูปเจดีย์  มีพลับพลา  และ เต่า  ไหม ครับ
 ผมยังลังเลอยู่ว่า เป็นฉบับกลางแปลง  หรือ  ต้นฉบับที่ติดไปในสนามรบ

 ยินดีที่ได้มีโอกาส พบแหล่งความรู้สำคัญของชาติครับ















หลังจากนั้น เจ้าของตำราพิไชยสงครามได้ส่งภาพมาให้ดูทั้งหมด

ผมคิดเบี้องต้น  ว่า ตัวเขียน น่าจะเป็นแบบทางใต้ คือ บุดขาว และ ภาษา น่าจะเป็น ขอม (เดา เพราะไม่ใช่ ภาษาภาคกลาง ) ลองให้ อจ. ที่ มรภ.สุราษ (ไม่แน่ใจมีไหม ) แต่ที ม.วลัยลักษณ์ มีครับ อ่านดูส่วนกระบวนพยุหะ (รูปภาพ) เป็น อักษรไทย แต่ไม่เหมือนฉบับที่ทางผมมีทั้งหมด (มีบางภาพเพิ่งเห็นในฉบับนี้ครับ)   ซึ่งไม่เต็มฉบับ ตามเล่มกระบวนพยุหะ เช่น ฉบับชุบใหม่ (เขียน) รัชกาลที่ 2  (ซึ่งปกติในระหว่างทำการรบจะถือใช้เฉพาะที่เป็นแก่นความรู้จริง จึงมักไม่ครบเต็มตามฉบับหลวง) 

ผมเห็นว่า คงไม่ใช่ฉบับหลวง  เพราะ ถ้าฉบับหลวง จะเป็น ตัวอักษรทอง และ มีระบุชัดว่า ผู้เขียน-อาลักษณ์ เป็นใคร เขียน รัชกาลใด 
แต่น่าจะเป็น ฉบับที่ใช้ในสงคราม (มักเรียกกันว่า ฉบับกลางแปลง) ถ้าทางกรุงเทพ จะเรียก เขียนด้วยสีหรดาล(สีเหลือง) 

ด้วยบรรดาศักดิ์ ของคุณทวด  คล้ายจะเป็นระดับหัวหมู่ ยังไม่เป็นแม่ทัพ ถ้าจะมี คงเป็นฉบับที่แม่ทัพ สอนให้เรียนรู้ และเขียนในระหว่างเดินทัพ (ตามคำบอก )  หรือ แม่ทัพมอบให้เก็บรักษาไว้

ตัวอักษรบรรยาย ถ้าเป็นอักษรขอม (ตามที่ผมเดา)  ก็จะเข้าหลักการ ว่า อะไรที่สำคัญ แม่ทัพ จะให้เขียนเป็นภาษาขอม (คัคลอก) ซึ่ง ใครได้ไปจะอ่านไม่เข้าใจ เป็นการป้องกันไว้ระดับหนึ่ง ครับ 

ทางภาคใต้เท่าที่มีการพบ กันมีที่  จ.พัทลุงแห่งหนึ่ง เรียกฉบับ วัดควนอินทร์นิมิต (ที่ มรภ.นครศรีฯ มีฉบับที่ถอดเป็นภาษาไทย)  กับที่ วัด มุจลินทวาปีวิหาร อ. หนองจิก จ.ปัตตานี (น่าจะเป็น  ทาง  มอ. ถอดความไว้)  ทั้ง 2 เล่ม เจ้าเมืองเป็นผู้ครอบครองมาก่อน 

ถามว่าจริงไหม  เป็นฉบับที่ใช้จริงในสนามรบ  (ถ้าตัวเขียนตามภาพ ลบได้นะครับ ตัวอักษรสีขาว แสดงว่าเขียนในภายหลัง หรือ บันทึก ระหว่างสงคราม) 

สรุป  เท่าที่ดูจากทั้งหมดแล้ว นะครับ 
ได้ตรวจสอบกับต้นฉบับ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับ รัชกาลที่ 1 มีส่วนคล้ายคลึงกับ เล่มที่ 181 ตำราพิไชยสงคราม เล่ม 3 ว่าด้วย แผนที่ตั้งทัพจนถึงวิธีตั้งทัพ (รูปพยุหะต่าง ๆ )
ที่ยังไม่สามารถ ตีความได้คือ  ตัวอักษรที่เขียน  เท่าที่มีข้อมูล ฉบับทางใต้ มีอีกเล่มพบที่เมืองนคร  เป็นฉบับภาษาพม่า  ว่าด้วยแผนที่ตั้งทัพ

น่าสงสัยทำไมเล่มนี้จึงไม่ใช้ภาษาไทยเขียนในส่วน ร่าย หรือ คำกลอน

ดร.ดนัย เทียนพุฒ

Apr 27, 2014

กองทุนเพื่อการศึกษาสยาม (Siam Study)


         ความสนใจของ ผมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประเทศไทย นั้นมีมานาน ได้ทำการศึกษาเป็นความสนใจส่วนตัวมาโดยตลอด แต่ที่สนใจมาก ๆ คือ เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของสยาม กับ ตำราพิไชยสงครามไทย ซึ่ง มีรหัสที่ยังทำการศึกษาได้อย่างไม่รู้จบ และเป็นองค์ความรู้ที่ บรรพมหากษัตริย์ไทย แม่ทัพนายกองได้ รังสรรค์ หลั่งเลือด และ ทุ่มเทรักษาไว้ ตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานไทย แต่เสียดายว่า แม้จะมีผู้ที่สนใจกันมากก็จริงแต่ที่จะลึกซึ้งทำเข้าใจได้ นั้นมีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นที่มาของ การจัดตั้งเหมือนลักษณะ "กองทุนเพื่อการศึกษาทางวิชาการ"  ที่ทำกิจกรรมเรื่อง "Siam Study"



        ในคราวที่ ไป บรรยายเรื่องราวของตำราพิไชยสงคราม ซึ่งจัดโดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.เพชรบูรณ์  ได้มีโอกาสพูดคุยกันหลายเรื่องกับ ผอ.ปิลันธนา (ในขณะนั้น) ท่าน ผอ. บอกว่า เคยไป นครวัดหรือยัง ผมบอกยัง ท่านก็บอกว่า ต้องไปให้ได้
        กลับมา กทม. ได้พักหนึ่ง  ผมมีสอน ป.โท วิชา HRM in Education  ก็คิดไปมากับคณบดี ศึกษาศาสตร์ มซจ. จัด นศ.ป.โท ไป ดูงาน ซึ่งมีทั้ง ไปดู ศิลปะและวัฒนธรรม  การรองรับ AEC 2015  การเข้าวิธีคิดของแต่ละยุค
 
        ได้มีโอกาสไปดูความอลังการ ทั้ง นครวัดและนครธม และอีก 2-3 ปราสาท




        ทำให้ผู้เขียน ติดใจในเรื่อง  ภาพสลักนูนต่ำของเรื่องมหาภารตะยุทธ   สยามกุก  การรบของขอมโบราณ ฯลฯ
        สิ่งเหล่านี้ ได้นำมาเชื่อมต่อกับ สิ่งที่ขาดหายไปใน ตอนที่ศึกษาและ เขียนตำราพิไชยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ น่าจะทำให้เติมเต็มได้ มากยิ่งขึ้น 
        และทำให้อยากกลับ ไปทบทวนและศึกษาสิ่งที่ค้างอยู่ เรื่องของ สยามกุก  และ การถอดรหัส ในตำราพิไชยสงคราม โดยเฉพาะ วิธีการตั้งทัพ ซึ่ง มีหลักการคำนวณ ซึ่งยังไม่อาจตีความได้  หรือ เรื่องการตั้งพยุหะต่าง หากลองเทียบระหว่าง ที่มีในมหาภารตะยุทธ  ตำราพิชัยสงครามของพม่า และ ตำราพิไชยสงครามของไทย ผู้เขียนเชื่อว่า "เราจะ ถอดองค์ความรู้ได้ดียิ่งขึ้น"  

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID: thailand081

Jan 7, 2014

ควันหลง งานเสวนาตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ ตามรอยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์



คุณมาวิณหุ์  พรหมบุญ  ได้นำมามอบให้เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์  กับ ดร.ดนัย เทียนพุฒ ผู้ถอดรหัสตำราพิไชยสงคราม ฉบับเมืองเพชรบูรณ์

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  จัดเสวนาตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์ ตามรอยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

              ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการทางภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จัดโครงการตามรอยวัฒนธรรมเพชรบูรณ์






             เรื่องตำราพิไชยสงครามฉบับเมืองเพชรบูรณ์กับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เพชรบูรณ์  เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับตำราพิไชยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ โดยมี ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  เป็นประธานเปิดโครงการ


                
อาจารย์ปิลันธนา  สงวนบุญญพงษ์  ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กล่าวว่า  จากภาพข่าวการพบตำราพิไชยสงคราม  ซึ่งเป็นสมบัติของตระกูลพรหมบุญ  ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน  และคุณมาวิณหุ์  พรหมบุญ  ได้นำมามอบให้เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์   เก็บรักษาไว้ที่หอประวัติศาสตร์เพชรบุระ   สำนักศิลปวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์   ตระหนักเห็นความสำคัญของตำราพิไชยสงครามที่ถูกค้นพบจึงได้ประสานไปยังนักวิชาการเพื่อทำการศึกษาและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามจนได้เป็นหนังสือชื่อ ตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์
                การเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดนัย เทียนพุฒ  ผู้ศึกษาและเรียบเรียงหนังสือตำราพิไชยฉบับเมืองเพชรบูรณ์  ดร.วิศัลย์  โฆษิตานนท์  นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์  และคุณมาวิณหุ์  พรหมบุญ  ผู้เป็นเจ้าของตำราพิไชย-สงคราม มาร่วมเสวนา  โดยมีบุคลากรทั้งภายในและภายนอกจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรม  นักศึกษา  ข้าราชการภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการ
จำนวน 150 คน



นำมาจาก

โดย : นางสาวชลธิชา ภูจุ้ย
วันที่ : 2013-03-13 / 11:04:36
http://www.pcru.ac.th/pcru/pcru-news/index_news.php?pcru_id=0000000780