Nov 13, 2008

คณะช่างแทงหยวก-ครูประสม สุสุทธิ



แทงหยวกระยับลาย วิจิตรศิลป์ประดับเมรุ
   
 ลายศิลป์ประดับเชิงตะกอนเผาศพ แต่โบร่ำโบราณมา ชาวไทยใช้หยวกกล้วยสลักเสลาอย่างวิจิตร เรียกว่าแทงหยวก

การแทงหยวกเกิดขึ้นมาจากการเผาศพของชาวบ้าน

นางสุรางค์ศรี พวงมะลิ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า สมัยโบราณนิยมเผาศพกันกลางแจ้ง เพราะยังไม่มีการก่อสร้างฌาปนสถาน เมื่อจะเผาก็ขุดศพขึ้นมาทำความสะอาดให้เหลือแต่กระดูก แล้วนำมาบรรจุลงในโกศ เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลบนเชิงตะกอนก่อนที่จะทำพิธีเผา

เพื่อความสวยงามของเชิงตะกอน ช่างแทงหยวกจะนำกาบกล้วยมาแทงเป็นลวดลายต่างๆ ประดับให้ดูสวยงาม เหมาะสมกับฐานะของผู้ตาย หรือฐานะของเจ้าภาพ

กาบกล้วยที่นำมาใช้ นิยมใช้กล้วยตานีเท่านั้น เพราะใบมีความสมบูรณ์ มีความอิ่มตัวในลำต้น ไม่มีสายใยเวลาตัด แทง ฟัน และไม่เปราะเหี่ยวง่าย หากเป็นกล้วยชนิดอื่นจะเหี่ยวเฉาภายในเวลา 10 ชั่วโมง

การแทงลวดลาย นิยมแบ่งลวดลายออกเป็นชั้นเชิงตะกอน ตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป และมีเสาเชิงตะกอนตั้งแต่ 8 เสา ถึง 12 เสา

วัสดุที่ใช้แทงหยวก นอกจากกาบกล้วยแล้ว ยังใช้ฟักทอง มันเทศ หัวผักกาด มันแกว มะละกอ มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ เครื่องอุปโภคบริโภค สัตว์และตัวละครในวรรณคดี

วัสดุประดับเชิงตะกอนให้มีชีวิตชีวาขึ้น เหล่านี้ภาษาช่างเรียกว่า “การแทงหยวกประกอบเครื่องสด”

สัตว์ต่างๆ ในวรรณคดีที่เสกสรรปั้นแต่ง แท้จริงก็คือ ต้องการจำลองสัตว์ในป่าหิมพานต์นั่นเอง

เพราะเมรุคือ เขาพระสุเมรุ

การเลือกต้นกล้วยมาแทงหยวก ต้องเป็นกล้วยตานี เลือกต้นที่ยังไม่ออกปลีลำต้นสูงประมาณ 3 เมตรขึ้นไป โคนต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ ไม้ไผ่ กระดาษกรุหน้าและกระดาษรองพื้นลายหยวก ตะปูตอกแผงหยวก และติดดอกเครื่องสดขนาดต่างๆ มีดแทงหยวก 1 เล่ม และมีดแล่ลายหยวก 1 เล่ม

การสร้างสรรค์ลวดลาย ช่างมีลายต่างๆ ที่สืบทอดกันมา ช่างมักใช้ลายไทยโบราณเป็นลายมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้ลายไทยแบบดั้งเดิมอยู่ และประยุกต์ลายขึ้นมาใหม่บ้าง

ตัวอย่างเช่น ลายฟันหนึ่ง หมายถึงลายที่มีหนึ่งยอด เป็นลวดลายเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกหัดแทงหยวก จะต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญ ขนาดของฟันจะต้องเท่ากันทุกซี่ แทงเป็นเส้นตรงไม่คดโค้ง และต้องฉลุให้เท่ากันทั้งสองด้าน

ลายฟันหนึ่งเป็นลวดลายที่ช่างแทงหยวกใช้กันทุกท้องถิ่น มีทั้งฟันขนาดเล็ก และฟันขนาดใหญ่ ลายฟันหนึ่งขนาดเล็กเรียกว่าลายฟันปลา ลายฟันหนึ่งเมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้วสามารถนำไปใช้ได้ทั้งสองข้าง

ลายอื่นๆ เช่น ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายน่องสิงห์หรือแข้งสิงห์ ลายหน้ากระดาน ลายเสา และลายกระจังหรือลายบัวคว่ำ เป็นต้น

ช่างแทงหยวกที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเพชรบุรีคือ ช่างประสม สุสุทธิ ผู้เคยฝากผลงานไว้มากมาย ที่เด่นๆ เช่น ภาพสีน้ำมัน สมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ขณะนี้อยู่ที่ทำเนียบขาวประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนภาพไทยปิดทองร่องชาติ ขนาด 3๚6 ฟุต การจัดทัพลิงทัพยักษ์ ขณะนี้ภาพอยู่ที่บริษัทเซเว่นอัพ เขียนภาพลายรดน้ำตู้พระไตรปิฎกของวัดราชา เป็นต้น  

ช่างประสมได้รับการติดต่อจาก อาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ให้เข้าร่วมแสดงฝีมือ

“คณะของเราที่จะไปร่วมงานมีกว่า 20 คน ครับ” นายวิริยะ สุสุทธิ ลูกชายของช่างประสมบอกและอธิบายว่า “พื้นฐานช่างของพ่อ มาจากเป็นคนวาดรูป พ่อทำงานศิลปะมาก่อน เมื่อมาสนใจเรื่องแทงหยวก คุณพ่อก็จะนำมาผสมผสานกับความรู้เดิม”

การสลักลวดลาย สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ “สมาธิของเราครับ เวลาสลักลายสมาธิต้องมั่น ต้องนิ่ง ระหว่างสลักลายเราต้องระวังไม่ให้หยวกช้ำ ถ้าช้ำหยวกจะเหี่ยวง่าย”

ลายที่ยากที่สุดคือ “ลายฟันหนึ่งครับ แม้จะเป็นลายเบสิก แต่ในเชิงช่างถือกันว่าเป็นลายที่ยากที่สุดและสำคัญที่สุด ต้องให้เป็นแนวเดียวกันทั้งหมด ถ้าสลักลายนี้ไม่ตรง เมื่อประกอบหยวกแล้ว หยวกจะไม่ตรง”

เส้นทางชีวิตช่างแทงหยวกประสม สุสุทธิ เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด

เกิดในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2465 ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายประเสริฐ นางทองดี สุสุทธิ ช่างประสมสมรสกับนางสาวพนอ เหมศรี เมื่อปี พ.ศ.2492 มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 8 คน

ลูกๆส่วนใหญ่เจริญรอยตามพ่อ

“เราทุกคนมีความรู้เชิงช่าง สามารถจับพู่กันเขียนหนังสือกันได้ทุกคนแหละครับ ส่วนใหญ่เป็นครู เป็นอาจารย์สอนศิลปะ” วิริยะบอก

ทางด้านหน้าที่การงาน เมื่อจบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ก็เข้ารับราชการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2484 ถึง 2491 ในระหว่างการทำงานนั้น มีผลงานด้านศิลปะชิ้นสำคัญๆ ดังนี้ เขียนและออกแบบธนบัตร ฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีลายไทยทั้งสองด้านร่วมกับอาจารย์ช่วง สเลลานนท์ ช่างเขียนเอกของกระทรวงการคลัง ได้เขียนธนบัตรชนิดต่างๆของธนาคารแห่งประเทศไทย

หลังจากนั้นได้ลาออกไปประกอบอาชีพทางด้านการค้า และทางด้านบัญชีใน พ.ศ.2492 ถึง 2498 แล้วออกมาเป็นครูสอนวิชาศิลปศึกษาที่โรงเรียนคงคาราม (ซึ่งในตอนนั้นก็ยังเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอยู่) สอนอยู่ได้ประมาณ 7 ปีเศษ ก็ต้องออกมาประกอบอาชีพทางด้านศิลปะ และโฆษณา จนถึงปัจจุบัน

ช่างประสม สุสุทธิ ได้รับเกียรติเป็นอาจารย์พิเศษสอนในโรงเรียนศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่วัดกษัตราธิราช จ.พระนคร ศรีอยุธยา ในเวลาว่างจากภารกิจอื่นๆ หรือเวลาที่ทางโรงเรียนศิลปาชีพต้องการ

ปัจจุบัน นายประสม สุสุทธิ ยังรับใช้งานทางด้านศิลปะแก่ประชาชนทั่วไป และนอกจากนั้น ยังได้รับใช้เกี่ยวกับงานของทางราชการต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี เช่น ตกแต่งสร้างศาลาและเขียนภาพหน้าบันในงานถวายช้างเผือก ที่สนามหน้าเขาวัง เป็นต้น

ศิลปะการแทงหยวกเกิดขึ้นคู่กับการตั้งเมรุลอย แต่การสร้างเมรุลอยทุกครั้งอาจไม่มีการประดับด้วยการแทงหยวก เพราะค่าสร้างเมรุลอยสูง คนมักเผาศพในฌาปนสถานของวัดแทน การสร้างเมรุจึงไม่เป็นที่นิยม จะมีบ้างในหมู่คหบดีที่ค่อนข้างมีฐานะเท่านั้น

สำหรับพระเมรุมาศ วิริยะ สุสุทธิ บอกเรื่องเตรียมของคณะช่างว่า

“เราจะเตรียมต้นกล้วยกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน ต้นกล้วยตานีเราไปสำรวจมาแล้ว จะใช้ 84 ต้นเท่ากับพระชนมายุ เมื่อรวบรวมพร้อมแล้ว จะนำเข้ากรุงเทพฯพร้อมคณะช่างในเช้ามืดวันที่ 12 พฤศจิกายน”

เมื่อเดินทางมาถึงก็จะไหว้ครูช่างแทงหยวก แล้ววัดขนาดพระจิตกาธาน แล้วเริ่มแทงหยวกตอนบ่าย ช่างจะเริ่มแทงหยวก “ตั้งแต่วันที่ 12 เรื่อยไปจนถึงเช้ามืดวันที่ 14 พฤศจิกายน ถึงจะนำขึ้นประดับ”

การได้รับเกียรติครั้งนี้ “เป็นเกียรติยศต่อวงศ์ตระกูลอย่างสูงสุด และเป็นความภูมิใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ครับ ก่อนหน้าที่เราเคยได้รับเกียรติครั้งหนึ่งเมื่องานสมเด็จย่า” วิริยะบอก

และสรุปว่า “เราร่วมงานครั้งนี้ เราไปในฐานะตัวแทนของตระกูลช่างเพชรบุรีแล้ว ชาวเพชรบุรีทุกคน และช่างไทย ที่จักได้ร่วมถวายความจงรักภักดีครับ”

พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ช่างไทยตระกูลเพชรบุรี จักได้ประกาศศิลปะการแทงหยวกให้ชาวไทยและชาวโลก จะได้ชื่นชมอย่างวิจิตรตระการตา.


นสพ.ไทยรัฐ ฉ.

ที่ 59 ฉบับที่ 18560 วันศุกร์ ที่ 14 พฤศจิกายน 2551

http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=110272




No comments: